การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (ACL)

ความเสี่ยงของอาการเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

     การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬามีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรงและทำให้เราได้ผ่อนคลายจากชีวิตที่เคร่งเครียด จากการทำงาน แต่อุบัติเหตุที่เกิดจากการเล่นกีฬาก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การบาดเจ็บที่เข่าที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะจากกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล คือ “เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสมเพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นข้อเข่าเสื่อมตามมาได้

การตรวจเพื่อวินิจฉัย

     จากประวัติและการตรวจร่างกาย ส่วนใหญ่ก็สามารถให้การวินิจฉัยภาวะเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาดได้แล้ว แต่ในบางกรณีแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการส่งตรวจ MRI เพิ่มเติม เพื่อตรวจหาการบาดเจ็บร่วมอื่น ๆ เช่น หมอนรองกระดูกข้อเข่าฉีกขาด และเอ็นด้านข้างเข่าฉีกขาด และเพื่อใช้ประกอบการวางแผนการรักษาต่อไป

เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าคืออะไร

     ดยปกติแล้วเข่าของคนเราจะประกอบด้วยเส้นเอ็นหลัก ๆ ที่สำคัญ 4 เส้น คือ เอ็นไขว้หน้า, เอ็นไขว้หลัง และเอ็นยึดข้อเข่าด้านข้างอีก 2 เส้น โดยที่เอ็นไขว้หน้าข้อเข่า (anterior cruciate ligament) หรือที่หลายคนมักจะเรียกย่อๆ ว่า ACL จะอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของข้อเข่าและยาวไปตามแนวเฉียงจากด้านหลังของกระดูกต้นขาไปจนถึงกระดูกหน้าแข้ง เส้นเอ็นนี้มีหน้าที่หลักคือ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกหน้าแข้งไม่ให้เคลื่อนที่ไปด้านหน้าหรือบิดหมุนมากเกินไป ทำให้ข้อเข่ามีความมั่นคง

อาการของเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

     เส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดมักเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน เช่น ขณะเล่นฟุตบอลถ้าเท้าเรายึดติดกับพื้นแต่ส่วนบนของร่างกายบิดหมุนมากเกินไป หรือขณะกระโดดลงพื้นเวลาเล่นบาสเกตบอล โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

    • ปวดอย่างรุนแรงในข้อเข่าแบบทันที
    • ข้อเข่าบวมทันทีหลังเกิดเหตุ ขยับเข่าได้จำกัด
    • อาจรู้สึกมีเสียงดังป๊อบตอนเกิดเหตุ
    • รู้สึกข้อเข่าหลวมไม่มั่นคงในกรณีที่เกิดเหตุมานานแล้ว

การรักษาเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

     ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาดจำเป็นต้องรับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้  การรักษาในระยะแรกหลังเกิดเหตุจะใช้หลักการ RICE ซึ่งก็คือ Rest = การพัก Ice = น้ำแข็ง Compression = การประคบ และ Elevation = การยกสูง ร่วมกับการใช้ยาและการกายภาพบำบัดโดยตั้งเป้าหมายเพื่อลดปวด บวมและทำให้เข่ากลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติโดยเร็วที่สุด เมื่ออาการทุเลาลงและมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นแล้ว แพทย์จึงจะทำการตรวจวิเคราะห์เข่าอีกครั้งเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการผ่าตัดหรือไม่

การผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด

     การผ่าตัดรักษาเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าฉีกขาด มีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้ข้อเข่ากลับมามีความมั่นคงแข็งแรงอีกครั้ง โดยวิธีการรักษาในปัจจุบันเป็นการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic surgery) ซึงแผลมีขนาดเล็กมาก ผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่าเดิม และปวดน้อยกว่าเดิม โดยแพทย์จะนำเส้นเอ็นส่วนที่ขาดออกไปและนำเส้นใหม่มาใส่แทนที่ ซึ่งเส้นเอ็นใหม่นี้สามารถนำมาได้จากหลายแหล่ง แต่ที่นิยมในประเทศไทยจะได้จากเอ็นกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring graft) ทั้งนี้มีการศึกษาที่ทำการเปรียบเทียบการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด พบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 94 ที่เข้ารับการผ่าตัดเส้นเอ็นไขว้หน้าข้อเข่าจะสามารถใช้ข้อเข่าได้ตามปกติต่อไปเป็นเวลา 15-20 ปี และมีเปอร์เซ็นต์การเกิดข้อเข่าเสื่อมน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รักษาด้วยไม่ผ่าตัด


Scroll to Top