มารู้จักกับ “โรคหูดับ” ทำไมกินหมู(ดิบ) แล้วหูดับ

 

 

 

ทำไมกินหมู(ดิบ) แล้วหูดับ

 

     การบริโภคหมูตามปกติ หากบริโภคแบบปรุงสุกก็จะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่ถ้าหากบริโภคแบบสุกๆดิบๆ อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ โรคไข้หูดับซึ่งในทางการแพทย์มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (STREPTOCOCCUS SUIS)”โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1. เกิดจากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ 2. การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค จากทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย

 

     อาการเด่นของโรคนอกจากจะมีไข้สูงแล้ว ยังมีภาวะสูญเสียการได้ยิน หรือเข้าใจง่ายๆ ว่าหูดับนั่นเอง โดยโรคไข้หูดับนี้ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2511 หลังจากนั้นก็พบในอีกหลายประเทศ ก่อนที่ในปี พ.ศ.2548 จะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ล้วนมีประวัติการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเรา พบโรคนี้ครั้งแรกในปี พ.ศ.2530 จากผลการสํารวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 2561 พบว่ามีการติดเชื้อกระจายเกือบทุกภาคโดยเฉพาะภาคเหนือ เนื่องจากมักทำอาชีพเลี้ยงหมูและมีเมนูอาหารพื้นบ้านที่เป็นของดิบ 

 

     ดังนั้นกลุ่มแรกที่ต้องระวังคือ คนที่มีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู หรือต้องใกล้ชิดกับหมู รวมถึงใครที่ชอบกินสุกๆ ดิบๆ รวมถึงผู้ติดสุราเรื้อรัง เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อได้ง่ายแล้ว อาหารดิบยังเป็นเมนูกับแกล้มของโปรดของสายดื่มอีกด้วย เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ หรือเคยตัดม้ามออก เพราะหากติดเชื้อจะมีอาการป่วยรุนแรง เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ

 

อาการนี้ชี้ชัดว่าหูดับ

 

    ส่วนมากแล้วอาการของโรคจะเกิดขึ้นหลังจากกินเนื้อหมู หรือสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย3-5 วัน โดยจะมีอาการ หากไม่ได้ทำการรักษาจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ประสาทหูชั้นในทั้งสองข้างและกระแสเลือด จนมีอาการรุนแรง ทำให้เยื่อหุ้มสมอง หัวใจ ข้อ และม่านตาเกิดการอักเสบ เป็นหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และปลายประสาททรงตัว รวมถึงเกิดอาการหูตึงหรือหูดับจนเป็นโรคหูหนวก

 

อาการของผู้ป่วยโรคหูดับ

 

  • ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ภายใน 3 วันจะมีอาการ ดังนี้
  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • ปวดตามข้อ
  • มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง
  • ซึม
  • คอแข็ง
  • ชัก
  • มีการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึก
  • เมื่อเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง และ กระแสเลือด
  • ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ข้ออักเสบ
  • ม่านตาอักเสบ

 

     และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลาม จึงทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียง และ ปลายประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่ง หูหนวก เวียนศีรษะ และ เดินเซตามมาได้

 

การป้องกัน โรคหูดับ

 

  • ไม่รับประทานเนื้อหมูที่ไม่สุก
  • ไม่กินหมูป่วย หรือ หมูที่ตายจากโรค และควรเลือกบริโภคหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน
  • สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ เพื่อป้องกันการสัมผัสโรคจากกุกรที่ป่วย
  • ล้างมือ ล้างเท้า หรือ อาบน้ำให้สะอาดหลังสัมผัสสุกร
  • เมื่อมีแผลต้องระวังในการสัมผัสสุกรระวังการติดเชื้อทางบาดแผล

 

  • กำจัดเชื้อจากฟาร์ม ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้สุกรป่วย

 

 


 

Scroll to Top