ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการมีบุตร

ฮอร์โมน เอสโตรเจน

     ฮอร์โมนที่สำคัญและส่งผลต่อการรักษาภาวะมีบุตรยากและการตั้งครรภ์มีหลายตัว แต่ละตัวทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้ ฮอร์โมน เอสโตรเจน ( Estrogen ) คือฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเองจากรังไข่เป็นหลัก มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการทำงานในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยผู้ชายก็มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่นกันในสัดส่วนที่น้อยกว่า

     ฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้สร้างจากรังไข่ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทองจะมีการทำงานของรังไข่ลดลงและเข้าสู่ภาวะพร่องเอสโตรเจน ถ้าผู้หญิงวัยทองมีข้อบ่งชี้และไม่มีข้อห้ามของการรับฮอร์โมนก็สามารถรับฮอร์โมนทดแทนตามแพทย์แนะนำได้  การรับเอสโตรเจนเพิ่มจากแหล่งอาหารธรรมชาติที่พบในพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ธัญพืชต่าง ๆ ฯลฯ ยังมีผลต่อร่างกายได้ไม่เทียบเท่าการรับฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง

ผลของฮอร์โมนเอสโตรเจน

  1. ทำให้ผิวพรรณเนียนนุ่ม สะโพกผาย เต้านมขยายขนาด
  2. กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้ไข่ตกและมีประจำเดือน
  3. ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนานุ่มพร้อมสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน เพื่อจะเติบโตเป็นทารกในครรภ์ต่อไป
  4. ควบคุมการทำงานของมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ขยายขนาดและมีเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ
  5. ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อเยื่อในอุ้งเชิงกราน เพื่อการขยายตัวระหว่างคลอด
  6. ทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารช้าลง ส่งผลให้ท้องอืดในง่ายขณะตั้งครรภ์
  7. ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก จึงช่วยลดภาวะกระดูกพรุน

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

     เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากสารเพรกนิโนโลน (Pregnenolone) ที่เปลี่ยนแปลงมาจากคอเลสเตอรอล ผลิตจากรังไข่หลังจากที่มีการตกไข่ไปแล้ว ทำหน้าที่สนับสนุนการตั้งครรภ์ ถ้าไม่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

ผลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

  1. พยุงการตั้งครรภ์ในระยะก่อนที่ตัวอ่อนจะสร้างรก
  2. ยับยั้งการหดรัดตัวของมดลูก ทำให้มีผลป้องกันการแท้งบุตรและการคลอดก่อนกำหนด
  3. ทำให้อยากอาหารและสะสมไขมันสำหรับใช้เป็นพลังงาน
  4. กระตุ้นให้ร่างกายปรับตัว หายใจเร็วขึ้น ช่วยขับถ่ายอากาศเสียจากปอดได้ดีขึ้น

ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการมีบุตรต่างๆ

  • Anti-Mullerian Hormone (AMH) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากฟองไข่ขนาดเล็ก บ่งบอกความสามารถในการทำงานของรังไข่หรือบอกจำนวนไข่ที่สามารถผลิตได้  ค่า AMH ที่สูงบ่งชี้ว่าจำนวนไข่สะสมมาก ถ้าระดับต่ำ บ่งบอกได้ว่าจำนวนไข่เหลือปริมาณน้อย ค่าปกติของ AMH อยู่ที่ 0.2 – 1.26 ng/mL ซึ่งบ่งชี้ว่าจำนวนไข่สำรองยังคงมีเหลือเพียงพอ
  • Thyroid-Stimulating Hormone (TSH) เป็นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง มีหน้าที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์  ค่าปกติของ TSH อยู่ที่ 0.5-5 mU/L ค่าฮอร์โมนนี้ที่ผิดปกติจะบ่งชี้ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป หากผลการตรวจนั้นสูงกว่าปกติแสดงว่าต่อมไทรอยด์กำลังทำงานน้อยกว่าปกติทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ต่อมใต้สมองจึงผลิตฮอร์โมน TSH ออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อพยายามกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์  ในทางตรงกันข้ามเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ นำไปสู่ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ต่อมใต้สมองจะหลั่ง TSH ออกมาลดลง การทำงานของต่อมไทรอยด์มีผลต่อการตั้งครรภ์ ผลการตรวจที่ได้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการตรวจเพิ่มเติมและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมได้ก่อนการใส่ตัวอ่อน
  • โปรแลคติน (Prolactin) มีหน้าที่กระตุ้นต่อมน้ำนมให้สร้างน้ำนม ระดับโปรแลคตินจะสูงในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฮอร์โมนนี้มีผลยับยั้งการหลั่งของ FSH และ LH ซึ่งจะมีผลลดการกระตุ้นการทำงานของรังไข่ทำให้ฟองไข่จะไม่เจริญเติบโต ไม่มีการตกไข่และประจำเดือนผิดปกติ ผลการตรวจ Prolactin ที่ปกติควรมีค่าไม่เกิน 15-20 ng/mL ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนนี้สูงไม่มากอาจจะยังมีการตกไข่ได้แต่ระดับโปรเจสเตอโรนต่ำ ถ้ามีฮอร์โมนนี้สูงขึ้นจะตกไข่ไม่สม่ำเสมอ หรือไข่ไม่ตกเลย ทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือน
  • Follicle Stimulating Hormone (FSH) เป็นฮอร์โมนที่มีผลกระตุ้นการเจริญของไข่ ค่า FSH ปกติโดยทั่วไปจะมีค่าไม่เกิน 10 mIU/ml โดยสัมพันธ์กับทั้งคุณภาพและปริมาณของไข่สำรองที่มีอยู่ เมื่อไข่สำรองมีคุณภาพและปริมาณลดลง ร่างกายจะชดเชยด้วยการผลิต FSH มากขึ้น เพื่อกระตุ้นฟองไข่ให้เจริญมากขึ้น ผู้ที่มี FSH สูงเกินไป เช่น หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนกำหนด หรือต่ำเกินไป เช่นมีภาวะ PCOS ก็จะเป็นผู้มีบุตรยาก
  • Luteinizing hormone (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ไข่สุกและตก ระดับ LH จะตรวจจากเลือดหรือปัสสาวะ ค่าปกติไม่ควรเกิน 6 (ในวันที่ 1-3 ของรอบเดือน) การตรวจระดับ LH จะช่วยอธิบายและวางแผนการรักษาความผิดปกติดังนี้
        –  รอบเดือนที่ผิดปกติ
        –  บอกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการวางแผนตั้งครรภ์
        –  ถุงน้ำรังไข่
Scroll to Top