การผ่าตัดข้อเข่าเทียมบางส่วน

     โดยทั่วไปการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมี 2 รูปแบบ คือ ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อทั้งหมด (total knee arthroplasty ; TKA) และผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมบางส่วน (Unicompartmental knee arthroplasty ; UKA ) การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียมบางส่วน เริ่มมีมาประมาณ 30 ปี ช่วงแรกได้ผลไม่ดีเนื่องจากการออกแบบข้อเข่าเทียมที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ปัจจุบันได้มีการพัฒนาออกแบบ มาตรฐานในการผลิตข้อเข่าเทียมดีขึ้น การผ่าตัด UKA เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเพราะให้ผลการรักษาที่ดี

Unicompartment Knee Arthroplasty

     การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือที่เรียกว่า Unicompartment Knee Arthroplasty (UKA) คือการผ่าตัดเอาผิวข้อเข่าเฉพาะส่วนที่เสื่อมออก ส่วนกระดูกอ่อนและกระดูกในส่วนอื่นที่ปกติดี ยังไม่มีปัญหา จะยังคงรักษาสภาพเดิมไว้  เนื่องจากโดยทั่วไปข้อเข่าเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานตามวัย มักจะเริ่มมีการเสื่อมที่ผิวของช่องข้อเข่าด้านในเพียงด้านเดียว ซึ่งทำให้เหมาะต่อการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าแบบ UKA มากกว่าที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทั้งลูก เพราะการเปลี่ยนข้อเข่าทั้งลูก ต้องตัดผิวกระดูกอ่อนออกหมด รวมทั้งกระดูกต้นขา หน้าแข้ง ลูกสะบ้า ทำให้เป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มาก มีการบาดเจ็บมาก เลือดออกมาก เนื้อเยื่อบาดเจ็บมาก หลังการผ่าตัดจะรู้สึกถึงอาการทุกข์ทรมานมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน นอกจากนี้องศาการงอและเหยียดเข่าอาจไม่ได้ดีเท่าที่ควร การเปลี่ยนข้อเข่าเทียมบางส่วนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ข้อดีของการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน (UKA)

  1. สามารถเก็บรักษาผิวข้อเข่าหรือกระดูกอ่อน ตลอดจนเส้นเอ็นต่างๆ ภายในข้อเข่าที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้แผลการผ่าตัดนั้นเล็ก 
  2. ความรู้สึกเจ็บปวดหลังการผ่าตัดน้อย สูญเสียเลือดน้อย ไม่ต้องมีการตัดเนื้อเยื่อเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ทำให้การฟื้นตัวของเข่าเร็วกว่าปกติ การพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
  3. สามารถใช้ข้อเข่าได้ใกล้เคียงข้อเข่าปกติมากที่สุด สามารถงอข้อเข่าได้เหมือนปกติและเหยียดเข่าได้สุด สามารถนั่งพื้นหรือนั่งยอง ๆ หรือคุกเข่า ได้ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นธรรมชาติ แต่การผ่าตัดแบบนี้อาจจะไม่เหมาะกับคนที่อยากวิ่งและเล่นกีฬาหนัก ๆ เพราะอาจจะทำให้ข้อสึกเร็วกว่ากำหนด

ข้อจำกัด 

  1. ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดด้วยเทคนิคใหม่นี้เท่านั้น
  2. ไม่เหมาะที่จะทำผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีภาวะความเสื่อมมากในขั้นรุนแรง หรือมีภาวะความโก่งงอของข้อเข่ามากเกินไป
  3. ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนขั้นรุนแรง หรือมีน้ำหนักมาก อาจไม่เหมาะสมที่จะใช้วิธีผ่าตัดชนิดนี้

 


 

Scroll to Top