น้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากอะไร
หากพูดถึงโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน บางคนก็ยังมีความสงสัยและไม่เข้าใจมากนัก ว่าน้ำเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ยังไง และมีประโยชน์อะไรต่อร่างกาย จริงๆแล้วหูของคนเรานอกจาก มีหน้าที่ในการฟังแล้วหูยังหน้าที่ในการควบคุมทรงตัวอีกด้วย หูของคนเราประกอบไปด้วย หูชั้นนอก คือ ใบหู ช่องรูหู และเยื่อแก้วหู หูชั้นกลาง และ หูชั้นใน หูชั้นในจะมีอวัยวะรับเสียงและมีอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัว ซึ่งอวัยวะนี้จะมีน้ำอยู่ภายใน ซึ่งเมื่อเราเปลี่ยนแปลงท่าทาง เช่น ก้ม เงย หรือหมุนตัว น้ำส่วนนี้ก็จะเกิดการไหลไปมาแปลงเป็นสัญญาณประสาทให้สมองรับรู้เกิดการทรงตัวที่เหมาะสมโรคน้ำในหูไม่เท่ากันพบได้ในคนไข้อายุตั้งแต่ 30-50 ปี และพบมากขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ คนไข้จะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน มีการสูญเสียการทรงตัวทำให้ล้มได้ง่าย และคนไข้ต้องมีระดับการได้ยินลดลง มีอาการเสียงรบกวนในหู และอาการหูอื้อรวมด้วย อาการเหล่านี้มักพบในช่วงระยะแรกของโรคซึ่งเกิดขึ้นแบบชั่วคราว แต่หากปล่อยให้โรคทวีความรุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลให้สมรรถภาพการได้ยินเสื่อมลงแบบถาวรได้
สาเหตุที่ทำให้น้ำในหูไม่เท่ากัน
สำหรับสาเหตุของโรคมีสาเหตุที่ไม่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้อาการของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันมีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อาหารรสเค็มจัด ซึ่งมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีปริมาณคาเฟอีนสูง รวมไปถึงความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ สำหรับวิธีการรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- ลดปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ จำกัดอาหารที่มีความเค็ม หรืออาหารที่มีโซเดียม (Sodium) สูง ได้แก่ ซอสหรือเครื่องปรุงรสเค็ม สาหร่าย อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น ไส้กรอก หมูหยอง หมูยอ ไส้กรอก แหนม ลูกชิ้น น้ำอัดลม รวมทั้ง เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน นอนหลับให้เพียงพอ ลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด
- การให้ยาในกลุ่มลดอาการเวียนศีรษะและปรับสมดุลในหูชั้นใน หรือในบางรายแพทย์จะจ่ายยาในกลุ่มขับปัสสาวะ เพื่อช่วยลดปริมาณโซเดียมให้อีกทางหนึ่ง
- สำหรับผู้ป่วยในระยะที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาการฉีดยาเข้าหูชั้นในผ่านทางแก้วหู (Intratympanic Injections) เพื่อควบคุมแรงดันน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ในปัจจุบัน ทำได้ง่าย ได้ผลการรักษาค่อนข้างดี แต่อาจทำให้การได้ยินเสื่อมลงจากเดิมบ้าง สำหรับในรายที่อาการเวียนศีรษะรุนแรงมากและกระทบต่อชีวิตประจำวัน จนสามารถทำงานและนอนหลับได้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด (Endolymphatic Sac Surgery) เพื่อระบายน้ำในหูชั้นใน ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ สามารถควบคุม อาการเวียนศีรษะได้พร้อมกับการรักษาระดับการได้ยินได้ ซึ่งแพทย์ก็จะต้องพิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยเป็นรายๆไป