โรคไตวาย

ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ประมาณร้อยละ 17.6 คิดเป็นผู้ป่วยราว 8 ล้านคน และมีจำนวน 80,000 คนเป็นไตวายระยะสุดท้าย โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ประเภทของโรคไตวาย

  • ไตวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถกรองของเสีย หรือขับน้ำออกได้อย่างเฉียบพลัน ซึ่งภาวะสามารถรักษาให้หายได้
  • ไตวายเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าไตเสื่อมเรื้อรัง เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของไตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีลำดับการเสื่อมลงเป็นระยะต่างๆ

สาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง

สาเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกิดจากเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นผลจากการการรับประทานอาหารหรือดูแลตัวเองไม่ถูกต้อง นำไปสู่ภาวะไตเสื่อมแทรกซ้อน

สาเหตุอื่นๆ เช่น เนื้อเยื่อไตอักเสบเรื้อรัง, นิ่วที่ไตและทางเดินปัสสาวะ, โรคเอสแอลอี (SLE), โรคเก๊าท์, ไตวายจากยาแก้ปวด ยาสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

โรคไตวายเรื้อรังร้ายแรงขนาดไหน

โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรง เนื่องจากร่างกายอยู่ไม่ได้ถ้าไตไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ในการกรองของเสีย และกำจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายช่วยให้ไม่มีน้ำท่วมปอด

นอกจากนี้ไตยังเป็นอวัยวะที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือด ดังนั้นเมื่อไตผิดปกติเสื่อมลงจะทำให้ผู้ป่วยโรคไตมีภาวะซีด หรือเลือดจางได้โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์วิตามินดีที่มีส่วนสำคัญกับการสร้างกระดูกช่วยให้กระดูกแข็งแรงอีกด้วย

ระยะของโรคไตวายเรื้อรัง

ไตวายเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะ

ระยะที่ 1 : ค่าการกรองของไต (eGFR) >/= 90 ml/min/1.73m2

ไตยังทำงานปกติ แต่ตรวจพบความผิดปกติทางโครงสร้าง เกลือแร่ผิดปกติเรื้อรัง มีโปรตีนหรือไข่ขาวรั่วทางปัสสาวะ หรือมีเม็ดเลือดแดงปนมากับปัสสาวะนานเกิน 3 เดือน มักพบโดยบังเอิญ หรือมีประวัติครอบครัว แล้วทำการตรวจจึงพบไตเสื่อมระยะแรกนี้ เนื่องจากจะไม่แสดงอาการที่ผิดปกติชัดเจน ระยะนี้ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตราย และการดูแลตัวเองไม่ได้ต้องเข้มงวดมากนัก

ระยะที่ 2 : ค่าการกรองของไต (eGFR) 60-89 ml/min/1.73m2

ไตยังมีการทำงานที่ดีอยู่ แต่ลดลงจากระยะที่1 และมักพบโดยบังเอิญ หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี เช่นเดียวกับไตเสื่อมระยะที่ 1 คือระยะนี้ยังไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ และยังไม่ต้องควบคุมตัวเองเข้มงวดมากนัก

ระยะที่ 3 : ค่าการกรองของไต (eGFR) 30-59 ml/min/1.73m2 

ระยะนี้เป็นระยะที่ค่าการกรองของไต หรือค่า eGFR ลดลงมาก การควบคุมอาหาร ยา และพฤติกรรมมีส่วนช่วยอย่างมาก รวมถึงการดูแลเรื่องโรคประจำตัวให้คุมได้ดีจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เกาต์ เป็นต้น เพราะการดูแลตัวเองที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นช้วยชะลอการเสื่อมของไตได้มาก ลดการเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต

ระยะที่ 4 : ค่าการกรองของไต (eGFR) 15-29 ml/min/1.73m2

ระยะนี้เป็นระยะก่อนฟอกไต ต้องการการดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น เน้นการควบคุมอาหารโปรตีนสูง ควบคุมเกลือในอาหาร ควบคุมความดันให้ดี คุมน้ำตาลให้ดี และระมัดระวังเรื่องยาอย่างมาก เพื่อไม่ให้ดำเนินเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

ระยะนี้เป็นระยะที่ต้องเตรียมแผนการฟอกไต หรือแม้แต่จะปลูกถ่ายไต ทั้งเตรียมเส้นเลือดสำหรับการฟอกไตไม่ว่าจะเป็นทำเส้นเลือด หรือสายล้างไตทางช่องท้อง

ระยะที่ 5 : ค่าการกรองของไต (eGFR) < 15 ml/min/1.73m2

ระยะนี้เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นระยะที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเข้าสู่การฟอกไตได้สูง ระยะนี้เริ่มมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นถ้าดูแลไม่ดี เช่น ภาวะโพแทสเซียมสูง ฟอสเฟตสูง น้ำท่วมปอด ติดเชื้อง่าย เลือดจาง และภาวะเลือดเป็นกรด เป็นระยะที่ต้องตรวจติดตามสม่ำเสมอ และเริ่มมีการใช้ยารักษาอาการมากขึ้น

อาการของโรคไตวายเรื้อรัง

อาการของโรคไตวายเกิดจาการที่ไตขับของเสีย และน้ำส่วนเกินออกไม่ได้ ซึ่งมักเกิดในไตวายระยะท้ายๆ ทำให้มีอาการของเสียคั่งค้างในเลือดและร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย โลหิตจาง คันตามตัว บวม น้ำท่วมปอด กระดูกเปราะบางหักง่าย ปวดกระดูก ถ้าของเสียค้างในสมองมากๆจะมีอาการชักและสมองหยุดทำงาน นอกจากนี้ยังมีภาวะเกลือแร่ผิดปกติ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียชีวิตได้

การป้องกันการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง

1.   รักษาเรื่องโรคประจำตัวให้ดี

2.   คุมอาหารเค็ม อาหารที่มีผงชูรส อาหารแปรรูป

3.   หลีกเลี่ยงการทานยาแก้ปวดบางประเภท รวมถึงยาสมุนไพร

4.   ดื่มน้ำให้เพียงพอ

5.   ไม่สูบบุหรี่

6.   ตรวจคัดกรองโรคไตเพื่อค้นหาโรคไตระยะเริ่มต้น

การรักษาโรคไตวายเรื้อรัง

•    ไตวายเรื้อรังระยะเริ่มต้น อาจพิจารณาดูแลรักษาด้วยการปรับพฤติกรรม อาหาร หรือรักษาด้วยยาได้

•    ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การรักษาต้องอาศัยการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต

>> ทางรพ.ปิยะเวทก็มีแพคเกจคัดกรองโรคไต ซึ่งจะช่วยค้นหาโรคไตระยะเริ่มต้นเพื่อรักษาให้ทันท่วงที ป้องกันการเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

>> เมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรัง รพ.ปิยะเวทก็มีทีมโรคไตที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถดูแลผู้ป่วยโรคไตได้ครบวงจรเพื่อช่วยดูแล และชะลอการเสื่อมของไต ป้องกันการเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้ช้าที่สุด

>> เมื่อเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย รพ.ปิยะเวทก็มีทีมโรคไตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลการฟอกเลือด การฟอกเลือดที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Scroll to Top