ศูนย์กุมารเวชกรรม ชั้น M อาคารปิยะเวท

โรคไอพีดี เรื่องจริงที่ควรรู้...

โรคไอพีดีคือ โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD, Invasive Pneumococcal Disease) เกิดจากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งทำให้เกิดโรคดังต่อไปนี้
  • โรคติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้สูง ซึมลง ความดันโลหิตต่ำ
  • โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้ ซึมลง ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการชักได้
  • โรคปอดบวม ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เหนื่อยหอบ อาจเกิดหลังจากติดเชื้อไวรัสโดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้
  • โรคหูชั้นกลางอักเสบ อาการไข้ ปวดหู อาจทำให้แก้วหูทะลุ หรือสูญเสียการได้ยินได้

ทำความรู้จักกับ เชื้อนิวโมคอคคัส...

เชื้อนิวโมคอคคัส เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่ในโพรงจมูก และลำคอ  สามารถแพร่กระจายโดย ผ่านการไอหรือจาม ในประเทศไทยพบว่ามี 5 สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ 6A,6B, 14,18C,19A  โดยพบว่าอุบัติการณ์ของสายพันธุ์ 19A ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นสายพันธุ์ที่พบปัญหาดื้อยาสูง ทำให้รักษาได้ยาก

โรค IPD อันตรายแค่ไหน

เด็กทารกที่เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากโรค IPD มีโอกาสเสียชีวิตถึง 50% เด็กทารกที่เคยป่วยเป็นโรค IPD มีโอกาสสูญเสียการได้ยิน พิการทางสมอง การเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ และมีอาการชักได้ ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเฉลี่ย นานถึง 12 วัน

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรค IPD

เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหอบหืด ภาวะไม่มีม้าม หรือม้ามทำงานบกพร่อง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

วิธีป้องกันจากโรค IPD

  • หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด
  • ล้างมือบ่อยๆ
  • สร้างภูมิค้มกันโรค IPD
  • การป้องกันโรคโดยการฉีด วัคซีนป้องกันไอพีดี

การป้องกันโรคโดยการฉีด “วัคซีนป้องกันไอพีดี”

  • วัคซีนไอพีดีโดยส่วนมากจะแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง
  • เด็กทารกเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4 เดือน และ 6 เดือน และครั้งสุดท้ายในช่วงอายุ 12-15 เดือน โดยหากเด็กอายุเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป ยังสามารถฉีดได้ แต่จำนวนเข็มที่ต้องฉีดจะเป็นไปตามอายุที่เริ่มฉีด โดยสามารถปรึกษาและสอบถามข้อมูลกับแพทย์เพิ่มเติม
  • นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีการเจ็บป่วยบ่อยหรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัส และน่าจะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ทั้งนี้การฉีดวัคซีนถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณพ่อคุณแม่ หากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและรับวัคซีนที่เหมาะสมกับช่วงวัย ปัญหาสุขภาพของลูกน้อยก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอีกต่อไป

สอบถามเพิ่มเติม วัคซีนไอพีดี ศูนย์กุมารเวชกรรม โทร 02-129-5517