
ข้อเข่าเสื่อม…อีกทางเลือกการรักษา
“PRP (Platelet Rich Plasma)
ฉีดเกล็ดเลือดแบบเข้มข้น รักษาข้อเสื่อม กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น”
“PRP (Platelet Rich Plasma) หรือการรักษาด้วยพลาสมาเกล็ดเลือดเข้มข้น เป็นทางเลือกในการรักษา เพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บของอาการข้อเข่าเสื่อมการบาดเจ็บของเส้นเอ็น เอ็นกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ เพื่อเข้าไปเร่งกระบวนการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด”
PRP มีประโยชน์อย่างไร? ข้อห้ามฉีดมีอะไรบ้าง?
Platelet-rich plasma หรือ PRP คือ ส่วนของเลือดที่ประกอบไปด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นกว่าปกติ 3-5 เท่าเและมี growth factorหลายชนิดโดยเกิดจากกระบวนการนำเลือดไปปั่นเพื่อแยกออกมาเป็นนวัตกรรมการรักษา ทางเลือกด้วยวิธีธรรมชาติ การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า PRP ประกอบด้วย growth factor สำคัญหลายตัวช่วยในการรักษาซ่อมแซมเนื้อเยื่อเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรวมถึงกระดูกอ่อนและได้ผลดีกว่าการฉีด น้ำไขข้อเทียม (HA: Hyaluronic acid) ติดตามที่ 3,6,12 เดือน (1)ข้อดีของ PRP คือ ผลข้างเคียงน้อย เพราะเป็นการนำเลือดของคนไข้เองมาใช้ ลดโอกาสการแพ้ และภาวะแทรกซ้อน
ประโยชน์ของ PRP ที่นำมาใช้รักษาทางการแพทย์
– ภาวะเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบเรื้อรัง (lateral epicondylitis)
– เอ็นสะบ้าอักเสบ (Runner or Jumper knee)
– เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles tendinosis)
– รองช้ำ (plantar fasciitis)
– ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee) ระยะแรกถึงปานกลาง
– เสริมการรักษาหลังการผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นหัวไหล่หรือหมอนรองข้อเข่า
– การบาดเจ็บกล้ามเนื้อแบบเรื้อรัง
ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมฉีดกี่ครั้งดี?
มีการศึกษาทางการแพทย์โดยมีสุ่มผู้ร่วมวิจัยออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มแรก ฉีด PRP 1 ครั้ง (PRP-1)
- กลุ่ม 2 ฉีด PRP 2 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ฉีดห่างจากเข็มแรก 3 สัปดาห์ (PRP-2)
- กลุ่มที่ 3 ฉีด HA 3 เข็ม ห่างกันทุก 1 สัปดาห์ (HA)
ผลการศึกษาพบว่า
– ที่ 1เดือน อาการดีขึ้น 50% ในกลุ่ม PRP และอาการดีขึ้น 25%ในกลุ่ม HA
– ที่ 3 เดือน อาการดีขึ้นเกิน 30% ในกลุ่ม PRP-1, PRP-2, HA พบได้ 86%, 100%, 0% ตามลำดับ
– PRP-2 ให้ผลดีกว่า PRP-1
ขั้นตอนมีดังนี้
- เจาะเลือด 15-20 cc
- นำเลือดมาปั่นโดยเครื่องปั่นทางการแพทย์ ตามรอบและระยะเวลาที่กำหนด
- แยกเก็บส่วนประกอบของเลือดที่มีเกล็ดเลือดและ growth factor เข้มข้น
- นำมาฉีดบริเวณที่ต้องการ
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวก่อนและหลังฉีด PRP
- ควรงดยา NSAIDs ก่อนและหลังฉีด PRP เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์
- ควรดื่มน้ำมากๆ (ตั้งแต่ก่อนวันนัดฉีด 1 วัน) ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
- หลังการฉีดอาจมีอาการปวด-ตึงบริเวณตำแหน่งที่ทำการรักษา แนะนำให้ใช้ความเย็นประคบ 15 นาที หลังฉีด 6-8 ชั่วโมง หรือรับประทานยา paracetamol/ ultracet เมื่อมีอาการปวด
- หลังการฉีด PRP สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
ผู้ที่ไม่เหมาะสำหรับรักษาด้วย PRP ได้แก่
- มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง ขั้นรุนแรง
- มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น มีไข้ ไอ เป็นหวัด หรือมีการติดเชื้อบริเวณที่จะฉีด
- โรคทางระบบอิมมูน ได้แก่ โรค SLE, โรครูมาตอยด์
- โรคเกาต์
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
PRP สามารถร่วมในการรักษา โรคที่มีความเสื่อมของเส้นเอ็นบริเวณ ไหล่ ข้อศอก เอ็นร้อยหวาย พังผืดที่ฝ่าเท้าอักเสบเรื้อรัง รวมถึงการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมระยะแรก ข้อต่อ กระดูกสันหลังเสื่อม โรคไขข้ออักเสบเรื้อรัง หรือได้รับบาดเจ็บที่เส้นเอ็น เป็นอีกทางเลือกของการรักษาที่มีขั้นตอนน้อยโดยไม่ต้องผ่าตัด มีการบอบช้ำของเนื้อเยื่อน้อย ไม่เกิดรอยแผลเป็น เร่งกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อตามธรรมชาติ ชะลอความเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อและข้อต่อ อีกทั้งประหยัดเวลาเมื่อเทียบกับทางเลือกแบบการผ่าตัด