จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าควบคุมโรคเบาหวานไม่ได้

โรคเบาหวานที่ดูแลจัดการได้ไม่ดีและไม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอ อาจส่งผลเสียที่สำคัญต่อผู้ป่วย โดยอาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพและภาวะแทรกซ้อนได้ทั่วร่างกาย ทั้งภาวะแทรกซ้อนต่อเท้า ไต ตา ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการป่วยเรื้อรังและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรโรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้เป็นเบาหวาน

โรคตา : จอประสาทตาเสื่อม ต้อกระจกจากเบาหวานและตาบอด

จอรับภาพของตาผิดปกติจากการที่จอประสาทในลูกตามีการเสื่อมทำให้เกิดตามัว ตาเห็นเป็นจุดดำ อาจมีหลอดเลือดในตาแตก ถ้าไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดได้ โดยโรคเบาหวานเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของโรคตาบอดจากจอประสาทตา ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรตรวจดวงตาเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางตาจากเบาหวาน

โรคไต : ไตเสื่อม ไตวายจากเบาหวาน

เมื่อผนังหลอดเลือดที่ไตถูกทำลายโดยน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่เป็นเวลานาน ส่งผลให้ทำงานของไตเสื่อมไปทีละนิด ถ้าไม่ควบคุมเบาหวานให้ดีอาจกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้ ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม เลิกสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคไต

โรคหลอดเลือดหัวใจ

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในระยะเวลานานๆ มักมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากโรคเบาหวานจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมีการตีบหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ ควบคุมเบาหวานไม่ดี ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย อ้วน สูบบุหรี่ เครียดเป็นประจำ และมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ การหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวและตรวจร่างกายเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน

เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณสมองตีบ ตัน ทำให้อวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่อ่อนแรงลงไป เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) ให้น้อยกว่า 6.5% ลดอาหารเค็มลง รับประทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น ออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ และลดความเครียด เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

เส้นประสาทเสื่อม

เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลาย รวมถึงการมีน้ำตาลสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณเส้นประสาทเอง ทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมลง ความรู้สึกในการรับรู้ต่างๆ ลดลง ชาบริเวณปลายมือปลายเท้า อาจมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา ผู้ชายที่เป็นเบาหวานมานานมักพบปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศร่วมด้วย

แผลเบาหวานที่เท้า

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะปลายประสาทเสื่อมและ/หรือหลอดเลือดส่วนปลายขาอุดตัน ส่งผลให้สูญเสียการรับความรู้สึกที่เท้า เท้าชา เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลได้ง่ายโดยไม่รู้ตัว และมักจะหายช้า เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง และอาจลุกลามจนกระทั่งต้องตัดขา ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติและหมั่นดูแลเท้าให้ดี เพื่อป้องกันการเกิดแผลที่เท้า

ความรุนแรงของโรคเบาหวาน

  • ในแต่ละวันจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คน หรือ 8 รายต่อชั่วโมง
  • มีเพียง 10% ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
  • ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คนและพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป
ความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงระดับปกติมาก ก็จะช่วยยับยั้งหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังได้มากเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะลดความรุนแรงของโรค ช่วยให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปกับการรักษาโรคแทรกซ้อนต่างๆ ด้วย

ศูนย์อายุรกรรม ชั้น G โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น. โทร : 061-397-9275