In vitro fertilization (IVF) ทางเลือกหนึ่งในการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกายที่ปล่อยให้มีการคัดเลือกตามธรรมชาติ โดยอสุจิ
ตัวที่แข็งแรงที่สุดจึงจะสามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ โดยใช้เทคนิคการนำไข่และอสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนในห้องทดลอง หลังจากนั้นจึงนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นใส่กลับเข้าโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาภาวะผู้มีบุตรยากที่ไม่รุนแรง ผลสำเร็จโอกาสตั้งครรภ์ 15-35%
การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว Preimplantation Genetic Diagnosis (PGD) เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มี
ความกังวลว่าตนจะเป็นพาหะหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม และถ่ายทอดความผิดปกตินี้ให้แก่บุตร โดยทั่วไปคู่สมรสที่มีปัญหาเรื่องภาวะมีบุตรยากหรือแท้งซ้ำซ้อนสามารถพบความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ถึง 10% และ 30% ตามลำดับ โรคทางพันธุกรรมก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็กและคู่สมรส เพราะฉะนั้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดโรคจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ปัจจุบัน โรงพยาบาลปิยะเวทสามารถคัดกรองโรคทางพันธุกรรมได้ถึง 600 โรค
Preimplantation Genetic Screening (PGS) เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม โดยที่พ่อและแม่เจ้าของตัวอ่อนไม่มีโรค หรือไม่เป็นพาหะของโรคทาง พันธุกรรมใด ก่อนฝังตัวอ่อนกลับเข้าไปในโพรงมดลูก ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว โดยมีจุดประสงค์หลักคือคัดกรองผิดปกติที่รุนแรงซึ่งมีผลต่อการฝังตัว เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จของการตั้งครรภ์ และลดอัตราการแท้งลง
Array-based comparative genomic hybridization คือนวัตกรรมล่าสุดในการตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมครบทั้ง 24 ตัว ให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำสูงถึง 98-99% สามารถตรวจหาการขาดหายหรือเกินมาของชิ้นส่วนโครโมโซมขนาดเล็กได้มากถึง 40-50% ซึ่งสามารถพบในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี การทำ Array CGH ยังได้ผลดีในคู่สมรสที่มีปัญหาแท้งซ้ำซ้อน ภรรยาอายุมาก (38 ปีขึ้นไป) มีประวัติการตั้งครรภ์ที่ทารกมีความผิดปกติทางพันธุกรรมในท้องก่อน และคู่สมรสที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้วตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ป่วยจะต้องผ่านขบวนการการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และตัดชิ้นเนื้อตัวอ่อนเพื่อนำมาตรวจทางพันธุกรรมต่อไป
การฉีดเชื้อผสมเทียมในโพรงมดลูก Intrauterine Insemination (IUI) คือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรง โดยใช้ท่อพลาสติกเล็กๆ สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในช่วงที่มีหรือใกล้กับเวลาไข่ตก มักทำกับคู่สมรสที่หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากไม่พบ ฝ่ายชายที่มีเชื้ออสุจิต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิในช่องคลอด หรือฝ่ายหญิงที่มีปัญหาเรื่องภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) มีปัญหาเรื่องการตกไข่ เป็นต้น
Intracytoplasmic Sperm Injection (ICSI) เป็นการใช้เทคนิคในห้องปฏิบัติการเลือกตัวสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุด จากนั้นใช้เข็มเจาะและฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง เพื่อช่วยให้เกิดการปฏิสนธิ เหมาะสำหรับฝ่ายหญิงที่เปลือกไข่แข็งหรือหนา ฝ่ายชายที่มีน้ำเชื้ออสุจิน้อยกว่า 2 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร อสุจิไม่สมบูรณ์ มีความผิดปกติในการหลั่งน้ำอสุจิแล้วย้อนกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะข้อดีของวิธีนี้คือช่วยลดการเกิดทารกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม รวมไปถึงความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้อลีบได้
ทางโรงพยาบาลปิยะเวทยังได้นำเทคโนโลยี Laser Mediated ICSI มาใช้ในการยิงเลเซอร์เพื่อเปิดเปลือกไข่ก่อน แล้วค่อยแทงเข็มปล่อยสเปิร์มเข้าไป ซึ่งต้องใช้นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด