ทำความรู้จักกับแผลเบาหวาน
แผลเบาหวานเป็นบาดแผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุดเนื่องจากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานจะมีผนังของหลอดเลือดแดงแข็งตัวและหนาขึ้น ส่งผลให้เส้นเลือดตีบและแข็งเกิดการอุดตันในที่สุด ให้แผลหายยากเพราะไม่มีเลือดไปเลี้ยง นอกจากนี้ระบบประสาทรับความรู้สึกจะเสื่อม รับความรู้สึกได้น้อยลงหรือไม่ได้เลยทำให้เท้าชา ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสความร้อนหรือเย็นหรือแม้กระทั่งเล็บขบจึงทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย การเกิดแผลที่เท้าและลุกลามจนกระทั่งถูกตัดขาเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นการดูแลแผลเบาหวานที่เท้าให้มีประสิทธิภาพจึงต้องให้การดูแลครอบคลุมตามสาเหตุของการเกิดแผล การประเมินผล การควบคุมการติดเชื้อ การลดแรงกดที่แผล การเพิ่มการไหลเวียนเลือด การส่งเสริมการหายของแผลและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
กลุ่มเสี่ยงแผลเบาหวาน
กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดแผลเบาหวาน คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานเรื้อรังมานาน ยิ่งเป็นเบาหวานนานหลายปียิ่งเสี่ยงจะเกิดบาดแผล
แผลเบาหวาน
- แผลต้องเกิดกับผู้ป่วยเบาหวาน
- แผลมักเกิดในตำแหน่ง ปลายเท้า หรือตำแหน่งรับน้ำหนัก
- แผลหายช้าหรือไม่หาย
อันตรายของแผลเบาหวาน
- เรื้อรังรักษายาก เพราะแผลเบาหวานเรื้อรังถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีแผลจะหายยาก
- หายช้า เนื่องจากแผลเบาหวานเกิดจากหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงส่วยปลายของร่างกายได้น้อย
- ปลายประสาทเสื่อม เกิดจากอาการชา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่รู้ว่าเกิดแผล ทำให้แผลลุกลามมากได้
- เท้าผิดรูป ร่วมกับผิวแห้งหนาผิดปกติ เกิดหนังหนาๆ เป็นก้อนนูนออกมากดเนื้อเยื่อข้างใต้ เรียกว่า Callus หากเท้าผิดรูปบิดเบี้ยว เกิดแรงกดเฉพาะที่จะทำให้เนื้อเยื่อตายรักษายาก
- ระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เนื่องจากเส้นประสาทไม่ดี มีผลต่อต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ ทำให้การผลิตและหลั่งไขมันลดลง ส่งผลให้ผิวแห้ง แตก เกิดแผลได้ง่าย
- เสี่ยงสูญเสียนิ้วและเท้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรังและติดเชื้อรุนแรงมากกว่าคนปกติ เพราะระดีบน้ำตาลสูง เส้นเลือดแดงตีบ เลือดไม่ไปเลี้ยง กลไกการต่อสู้กัปเชื้อโรคบกพร่อง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งมีโอกาสเกิดเนื้อตายจากเส้นเลือดแดงส่วยปลายตีบนำไปสู่การสูญเสียนิ้วหรือขาได้
ตรวจวินิจฉัยแผลเบาหวาน
- แพทย์ซักประวัติและตรวจดูแผล หากผู้ป่วยเบาหวานมีแผล แพทย์จะตรวจเช็กตำแหน่งที่เกิดแผลและคลำชีพจร ตรวจอาการชา และเท้าผิดรูป
- ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Doppler Ultrasound) เพื่อตรวจภาวะเส้นเลือดตีบเบื้องต้น เพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดมาเท้า
- ตรวจ Ankle – Brachial Index เพื่อเช็คโรคหลอดเลือดแดงที่แขนหรือขาตีบ โดยมีหลักการคือเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial Artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle) ค่าปกติจะต้องไม่ต่ำกว่า 0.9 หากต่ำกว่า 0.9 ถือว่าผิดปกติคือเลือดมาเลี้ยงน้อยเกินไป