Post Views: 388
กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากเชื้อไวรัสเริม
กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากเชื้อไวรัสเริมถือเป็นการติดเชื้อที่เป็นสาเหตุของตาบอดจากกระจกตาที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถแยกเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของเริมได้เป็น 2 ชนิด คือ
- Herpes simplex virus type1 (HSV-1) ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเริมในบริเวณเหนือระดับเอวขึ้นมา เช่น บริเวณใบหน้า ริมฝีปาก หรือดวงตา
- Herpes simplex virus type2 (HSV-2) เป็นสาเหตุของเกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ มีโอกาสน้อยมากที่ HSV-2 จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณดวงตา โดยหากเกิดการติดเชื้อรอบดวงตา อาจเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโดยตรง หรือผ่านทางช่องคลอดของมารดาในขณะที่คลอด
ลักษณะการติดเชื้อไวรัสเริมบริเวณดวงตา
- การติดเชื้อไวรัสเริมปฐมภูมิ (primary ocular infection) เป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสเชื้อครั้งแรก จึงมักพบในเด็กและเกิดการติดเชื้อจากเชื้อโรคเริมในสิ่งแวดล้อม เช่น เกิดการแพร่กระจายของเชื้อจากละอองเสมหะขนาดใหญ่ หรือจากการสัมผัสโดยตรงต่อเชื้อ อาการของการติดเชื้อไวรัสเริมปฐมภูมิมักไม่ค่อยแสดงอาการหรืออาจมีอาการเพียงแค่ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียเท่านั้น อาการทางตามักมาด้วยเปลือกตาอักเสบ หรือมีเยื่อบุตาแดงอักเสบ มีตุ่มน้ำใสบริเวณรอบดวงตาและเปลือกตา ร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูโต ไม่ค่อยพบการติดเชื้อในระดับลึกของกระจกตา และอาการเหล่านี้มักหายไปได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่การให้ยาต้านไวรัสในรูปแบบยาหยอดตาหรือยาทาน อาจจะช่วยเร่งการหายของแผลให้เร็วขึ้นได้
- การติดเชื้อไวรัสเริมซ้ำ (Recurrent ocular infection) เป็นการติดเชื้อซ้ำที่เกิดจากการถูกกระตุ้นของเชื้อไวรัส โดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยหลังจากที่มีการติดเชื้อครั้งแรก เชื้อไวรัสเริมจะไปพักตัวหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งการติดเชื้อบริเวณดวงตาเชื้อเริมมักไปหลบอยู่ที่ปมประสาทสมองคู่ที่ 5 จนเมื่อมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น จึงทำให้เชื้อไวรัสเกิดการแบ่งตัวและกระจายไปตามปลายประสาท เกิดเป็นการติดเชื้อซ้ำขึ้น ปัจจัยที่คาดว่ามีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ ได้แก่ การผ่าตัดดวงตา และการใช้ยาบางประเภท ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ภาวะความเครียด การติดเชื้อทางร่างกาย การสัมผัสต่อแสงแดดหรือรังสียูวี การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามรอบประจำเดือน หรือการใส่เลนส์สัมผัส (Contact lens)
อาการแสดงและอาการแสดงเฉพาะ
แบ่งตามตำแหน่งของรอยโรค ได้ดังนี้
- การอักเสบติดเชื้อบริเวณเปลือกตาและเยื่อบุตา (Blepharoconjunctivitis) อาการและอาการแสดงมักแยกออกได้ยากจากการติดเชื้อไวรัสเริมครั้งแรก แต่มักพบในผู้ใหญ่อาการมักหายเองได้เช่นเดียวกับกรณีติดเชื้อครั้งแรก
- การอักเสบติดเชื้อชั้นเนื้อเยื่อบนสุดของกระจกตา (Epithelial keratitis) เนื้อเยื่อชั้นบนสุดของกระจกตาบวม เห็นรอยโรคเป็นลักษณะของเส้นที่มีการแตกกิ่ง ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของกระจกตาอักเสบติดเชื้อบริเวณผิวตาจากเชื้อไวรัสเริม หากเกิดรอยโรคที่ขยายใหญ่ขึ้นเป็นบริเวณกว้างจะมีลักษณะรอยโรคคล้ายแผนที่ (Geographic ulcer)
- การอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตา (stromal keratitis) เป็นลักษณะของการติดเชื้อที่สัมพันธ์กับการสูญเสียการมองเห็นได้มากที่สุด ซึ่งการติดเชื้อในแต่ละครั้งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อซ้ำในอนาคต กระจกตาชั้นกลางจะมีลักษณะขุ่น บวม
- การอักเสบติดเชื้อชั้นในสุดของกระจกตา (Endotheliitis) จากการตรวจตาจะไม่พบรอยโรคเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นกลาง และย้อมไม่ติดสีฟลูออเรสซีน แต่จะพบเซลล์อักเสบ ที่บริเวณเนื้อเยื่อตาชั้นในสุดในหลายรูปแบบ เช่น เป็นวงกลม เป็นเส้น หรือกระจายทั่วทั้งกระจกตา ทำให้เนื้อกระจกตาชั้นบนของบริเวณที่มีการอักเสบติดเชื้อบวมขึ้น มักตรวจพบเซลล์อักเสบในช่องหน้าลูกตาร่วมด้วย และมักพบว่ามีความดันลูกตาที่สูงขึ้นได้