ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุน

ภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดูกพรุน  

     โรคกระดูกพรุนพบในหญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้สูงอายุทั้งชายและหญิง ทำให้กระดูกขาดความแข็งแรงและมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักแม้เกิดจากแรงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลังจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่น นั่งรถตกหลุม นั่งกระแทกบนโซฟา หรือก้มยกของ เป็นต้น หรือเพียงแต่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติก็สามารถเกิดภาวะกระดูกสันหลังหักยุบในโรคกระดุกพรุนได้

อาการเบื้องต้น

     ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณกลางหลังตรงตำแหน่งที่มีการหักยุบ โดยอาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลาขยับ หรือ นั่ง ยืน เดิน หากมีการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จะทำให้มีอาการชาอ่อนแรงของขา หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะได้

การวินิจฉัย

     ทำได้โดยการซักประวัติอาการปวด ตรวจร่างกายบริเวณกระดูกสันหลัง และถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ ซึ่งจะพบกระดูกสันหลังบาง และมีการหักยุบ

การรักษาเบื้องต้น

    • ให้พักการทำกิจกรรม โดยให้ผู้ป่วยนอนพักในระยะแรก และลุกนั่งยืนเดินเท่าที่จำเป็น
    • ใส่เสื้อพยุงหลังที่เหมาะสม ทำให้มีอาการปวดน้อยลงและลดการยุบเพิ่มขึ้นของกระดูกสันหลังได้
    • ให้ยาแก้ปวด ให้แคลเซี่ยม และวิตามินดี เพื่อช่วยการสมานตัวของกระดูก รวมทั้งให้ยาฮอร์โมน Calictonin ชนิดพ่นจมูก ซึ่งจะช่วยลดอาการเจ็บปวดและช่วยในการสมานตัวของกระดูกด้วย โดยทั่วไปอาการปวดจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และอาการปวดจะหายในเวลา 3 เดือน ซึ่งก็คือระยะเวลาที่กระดูกติดนั่นเอง
    • ในผู้ป่วยบางรายที่ยังมีอาการปวดมาก ซึ่งก่อนที่จะทำการรักษาเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจ MRI หรือเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่หักยุบ นอกจากนี้ยังช่วยในการประเมินการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท และยังสามารถช่วยในการแยกโรคอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดกระดูกสันหลังยุบตัวได้ เช่น การติดเชื้อหรือเนื้องอก

การรักษากระดูกสันหลังหักยุบหลักแบ่งออกเป็น 2 แบบ

  1. การรักษาโดยฉีดซีเมนต์
    • การฉีดซีเมนต์ไปยังตำแหน่งที่มีการหักยุบขอบกระดูกสันหลัง ทำให้กระดูกที่หักยึดติดกันไม่ขยับและยังมีความแข็งแรงช่วยรับน้ำหนักตัวได้ ทำให้ไม่มีอาการเวลาขยับตัว การรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ เป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อย และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล หลังจากฉีดซีเมนต์ 4 ชั่วโมงผู้ป่วยจะสามารถลุก นั่ง ยืน เดิน ได้  สำหรับ ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ได้ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อ เลือดแข็งตัวยาก เป็นโรคหัวใจและปอด แพ้ซีเมนต์หรือสารทึบรังสี เป็นต้น

  2. การรักษากระดูกสันหลังหักยุบโดยการผ่าตัด
    • ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมากและไม่สามารถรักษาโดยการฉีดซีเมนต์ ได้แก่ กระดูกยุบตัวมากจนไม่สามารถใส่เข็มเข้าไปได้ มีการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาท จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด การผ่าตัดดามโลหะยึดกระดูกสันหลังสามารถแก้ไขภาวะการยุบตัวและโก่งค่อมของกระดูกสันหลังได้ และสามารถขยายช่องไขสันหลังช่วยแก้ไขการกดทับไขสันหลังหรือเส้นประสาทได้


Scroll to Top