ภาวะหยุดหายใจ…ขณะหลับ ภัยร้าย!…ที่ไม่ควรมองข้าม
ภาวะการนอนที่ผิดปกติ สังเกตได้ด้วยตัวคุณหรือคนรอบข้าง โดยจะมีอาการรู้สึกนอนไม่อิ่มหรืออ่อนเพลีย แม้จะนอนในชั่วโมงที่เพียงพอแล้ว ปวดศีรษะ ง่วงในเวลาที่ไม่ควร หงุดหงิด อารมณ์เสียง่ายกว่าปกติ ความจำสั้น สุขภาพไม่แข็งแรงในเด็ก เป็นต้น การนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับ มีผลให้ร่างกายขาดอ๊อกซิเจน หัวใจทำงานหนักขณะนอนหลับ มีผลต่อสมาธิ ความจำ นำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆได้อีกมาหมาย
นอกจากนี้ หากเกิดภาวะการนอนที่มีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับร่วมด้วย จะสังเกตได้จากช่วงที่กรนเสียงดังและค่อยๆสลับกันเป็นช่วงๆ และหยุดหายใจไปชั่วขณะหนึ่ง หากต่อเนื่องจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากออกซิเจนในขณะหยุดหายใจจะลดต่ำลง เมื่อเกิดในผู้ที่มีอาการอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงหรือหัวใจขาดเลือด อาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษาอาการกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วย “วิธีการผ่าตัดแก้ไข”
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เราจะสงสัยในกลุ่มคนที่มีอาการ ได้แก่
- มีอาการกรนดังมากผิดปกติ
- มีความง่วงหรืออ่อนเพลียในเวลากลางวันมาก
- หายใจติดขัดขณะนอนหลับ หรือมีคนบอกว่าหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- มีอาการผิดปกติอื่น ในระหว่างนอนหลับ เช่น ขากระตุกบ่อยครั้ง นอนกัดฟัน หรือมีสะดุ้งตื่นบ่อย
หากใครมีอาการตามนี้ ก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อส่งตรวจการนอนหลับ เพื่อยืนยัน และวินิจฉัยว่า มี ภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ด้วยการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) จะทำให้แพทย์ทราบ “ความรุนแรง” ของภาวะหยุดหายใจ เป็น ว่ามีการหยุดหายใจเฉลี่ยจำนวนกี่ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งในคนปกติจะมีค่านี้ไม่เกิน5ครั้งต่อชั่วโมง ความรุนแรงของโรค เราสามารถแบ่งได้ตามค่าดัชนีนี้ออกเป็นความรุนแรง3ระดับ คือ ระดับน้อย ระดับปานกลาง และระดับมาก
คนไข้กลุ่มไหนที่สามารถเลือกรักษาโดยการผ่าตัด
เมื่อแพทย์ทราบความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจแล้ว จะนำมาพิจารณาเพื่อเลือกการรักษาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ว่าใครเหมาะสมรักษาด้วยการผ่าตัด? การผ่าตัดแก้ไขนอนกรนและภาวะหยุดหายใจ เหมาะในผู้ป่วยที่
- มีโครงสร้างคอหอยที่ทำให้เกิดอาการกรน และผ่าตัดแก้ไขได้ เช่น ต่อมทอนซิลขนาดใหญ่ มีลิ้นไก่ยาวหย่อนยาน โคนลิ้นมีขนาดใหญ่
- โครงสร้างในจมูกที่ทำให้คัดแน่นจมูก และทำให้การหายใจทางจมูกระหว่างนอนหลับไม่ดี เช่น ผนังกั้นจมูกคดเอียง เยื่อบุจมูกบวมมากจากภูมิแพ้จมูกเรื้อรัง
- ความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจ ระดับน้อย-ปานกลาง (ทราบได้จากการตรวจการนอนหลับ)
- ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ และเลือกการรักษาโดยการผ่าตัดแทน
การพิจารณาการผ่าตัดจะ แพทย์หมอหูคอจมูกด้านการนอนหลับ เป็นผู้ประเมินความเหมาะสม
การผ่าตัดมีวิธีการใดบ้าง
จุดมุ่งหมายในการผ่าตัดแก้ไขอาการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยการแก้ไขโครงสร้างตามตำแหน่งที่มีการตีบแคบขณะหลับ ปกติแล้ว เมื่อเราหายใจขณะหลับ ลมจากผ่านจาก จมูก เข้าสู่ ช่องคอหอย บริเวณหลังลิ้นไก่ หลังโคนลิ้น และเข้าสู่หลอดลม การผ่าตัดจึงมีความต้องการแก้ไขจุดดังกล่าวนี้ ไม่ให้เกิดการหย่อนหรือตีบแคบขณะหลับ
ชนิดของการผ่าตัด
- ผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกที่คดเอียง
- ผ่าตัดจี้เยื่อบุจมูกเพื่อลดขนาดด้วยคลื่นวิทยุ
- การผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์(ในเด็ก)
- การผ่าตัดตบแต่งแก้ไขลิ้นไก่หรือเพดานอ่อนที่มีความหย่อนยาน
- การผ่าตัดเพื่อลดขนาดโคนลิ้น หรือดึงโคนลิ้นไม่ให้ตกมากเกินไปขณะนอนหลับ
การผ่าตัดจะทำให้หายขาดหรือไม่?
ขึ้นกับความรุนแรงของโรคก่อนผ่าตัดครับ หากผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับระดับ ความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง หลังผ่าตัดมีโอกาสหายและทำให้การหายใจขณะนอนหลับกลับมาปกติ ไม่มีการหยุดหายใหากผู้ป่วยมี ความรุนแรงค่อนข้างมาก การผ่าตัดอาจช่วยเพียงลดความรุนแรงของการหยุดหายใจลงในระดับหนึ่ง เช่น จากรุนแรงมากเหลือรุนแรงปานกลาง
จะเห็นได้ว่า การรักษาอาการกรน รวมทั้งภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีการรักษาที่หลากหลาย ตามแต่ความเหมาะสมแต่ละบุคคล ดังนั้นหากท่านมีอาการกรน หรือสงสัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรปรึกษา แพทย์ด้านการนอนหลับ เพื่อประเมินโครงสร้างใบหน้า โพรงจมูก และช่องคอหอย และพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมต่อไป