สุดยอดนวัตกรรม หุ่นยนต์กายภาพบำบัด

หุ่นยนต์บำบัด Hybrid Assistive Limb (HAL)

ถูกออกแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัท Cyberdyne      เพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่มีปัญหาทางระบบประสาท การเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือเส้นประสาทไขสันหลังขาด อาจส่งผลให้เดินไม่ได้ แต่จากการศึกษางานวิจัยที่ญี่ปุ่นพบว่า ยังมีสัญญาณประสาทที่หลงเหลือและรั่วมาถึงผิวหนังอยู่ ทางประเทศญี่ปุ่นจึงศึกษาวิจัยต่อ และได้คิดตัวช่วยที่สามารถขยายสัญญาณประสาทที่หลงเหลืออยู่นี้มาที่กล้ามเนื้อ ทำให้คนไข้ที่ขาขยับไม่ได้ มีแรงกลับมาเดินได้อีกครั้ง

การทำงานของหุ่นยนต์บำบัด

โดยทั่วไปแล้วหากเราต้องการขยับขา จะเริ่มต้นที่สมอง สมองจะส่งสัญญาณมาที่เส้นประสาทไขสันหลัง        และส่งมาที่รากประสาทที่มาเลี้ยงขา และส่งมาที่ขา เราจะขยับขาทันทีที่เราคิดเลย หุ่นยนต์บำบัดก็ทำหน้าที่เหมือนกัน      มี 5 ขั้นตอนดังนี้

  1. Think คิดก่อน
  2. Send ส่งสัญญาณมาที่ไขสันหลัง
  3. Read เครื่องขยายสัญญาณก็จะอ่านที่รั่วบนผิวหนัง โดยใช้ซอฟต์แวร์ขยายให้ใหญ่ขึ้นและส่งสัญญาณมาที่เซนเซอร์ที่ขา
  4. Move กล้ามเนื้อขยับได้
  5. Feedback ส่งสัญญาณกลับไปที่สมอง ทำให้คนไข้เกิดการเรียนรู้ คนไข้มีแรงน้อยเราก็ช่วยเยอะ คนไข้มีแรงเยอะเราก็ช่วยแรงน้อย โดยควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล

 หุ่นยนต์บำบัดเหมาะกับใคร

  1. กลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อม, โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรคฮันติงตัน และโรคกล้ามเนื้อลีบจากพันธุกรรม
  2. กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการบาดเจ็บของสมองและ ไขสันหลัง
  3. กลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุ และต้องฟื้นฟูกล้ามเนื้อหลังเข้ารับการผ่าตัด
  4. กลุ่มคนที่มีการบาดเจ็บที่สมอง และศีรษะ

 หุ่นยนต์บำบัด มีอุปกรณ์อะไรบ้าง

  1. อุปกรณ์สวมภายนอก น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม
  2. เข็มขัดสวมที่เอว เป็นตัวรวบรวมเครื่องอ่านและขยายสัญญาณประสาท
  3. ตัวรับสัญญาณที่กล้ามเนื้อ

 ขั้นตอนเข้ารับการรักษาโดยใช้หุ่นยนต์บำบัด

  1. ติดต่อนัดพบแพทย์ สาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่เชี่ยวชาญเรื่องหุ่นยนต์บำบัดโดยเฉพาะ
  2. ตรวจซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง โรคประจำตัว และข้อห้ามต่างๆ เพื่อการใช้หุ่นยนต์
  3. ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อนำมาจัดเตรียมโปรแกรมเฉพาะบุคคล
  4. เริ่มทดสอบหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดความคุ้นชิน เป็นเวลา 30 นาที
  5. ถ้าเริ่มคุ้นชินแล้วจะใช้เวลาในการรักษาประมาณครั้งละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10-12 ครั้ง อาการก็จะเริ่มดีขึ้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความมั่นใจของคนไข้

ประโยชน์จากการรักษา และผลที่ได้รับจากการฟื้นฟู

  • ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่มีความผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยกำหนดแนวทางการเดินที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมั่นใจในการก้าวขา และได้ขยับร่างกายมากขึ้น
  • ช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยที่เข้ารับการกายภาพบำบัดจะสามารถเดินได้ไกลมากขึ้น
  • ช่วยให้สมองได้เกิดการเรียนรู้ ทำให้การหัดเดินทำได้รวดเร็วขึ้น
Scroll to Top