หมอนรองกระดูกเข่าฉีก ภัยมืดใกล้ตัวคุณ
คุณเคยมีอาการปวดเข่า เข่าบวมเป็น ๆ หาย ๆ เหยียดงอเข่าลำบาก หรือข้อเข่าล็อค หรือไม่ อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด ซึ่งหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ในที่สุด
ประโยชน์ของหมอนรองกระดูกเข่า
หน้าที่หลักคือ เป็น shock absorber รองรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับข้อเข่า ทั้งการ เดิน วิ่ง กระโดด มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อคล้ายยางที่มีความยืดหยุ่น คั่นอยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้งและกระดูกต้นขา
อาการของหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด
-
- ปวดเข่า มักปวดมากขึ้นตามการใช้งาน หรือ ปวดในบางท่าทาง เช่น นั่งยองได้ไม่สุดเพราะปวดบริเวณข้อพับเข่า
- ข้อเข่าบวม เกิดจากมีน้ำในข้อเข่าที่มากขึ้น อาจบวมทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ หรือบวมเป็นๆ หายๆ หลังออกกำลังกาย
- ข้อเข่าล็อค เช่น งอเข่าแล้วเหยียดเข่าไม่ออก
จะรู้ได้อย่างไรว่าหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด
การถามประวัติอาการและการตรวจร่างกาย เพียงเท่านี้ยังไม่สามารถยืนยันการวินิจฉัยได้ การตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้
ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด
-
- ประคบเย็น ยกขาสูง และพักการใช้งานข้อเข่า ในระยะแรก
- ใช้ยาลดอาการอักเสบ
- ในบางรายอาจจำเป็นต้องผ่าตัดส่องกล้องเย็บซ่อมหมอนรองเข่า ซึ่งขนาดแผลเล็ก ปวดแผลน้อยและฟื้นตัวเร็ว
การผ่าตัดข้อเข่าโดยเทคนิคการส่องกล้อง
การผ่าตัดข้อเข่าโดยเทคนิคการส่องกล้อง คือ การที่แพทย์ใช้อุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กสอดผ่านกล้องเข้าไปทำการผ่าตัด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ปวดน้อยลง และขนาดแผลเล็ก โดยหลังผ่าตัดทีมกายภาพบำบัดจะร่วมดูแลต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูข้อเข่า ในบางราย แพทย์อาจจะแนะนำให้งดการลงน้ำหนักขาข้างนั้นเป็นเวลา 4 – 6 สัปดาห์
ภาวะหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด เปรียบเสมือนภัยมืด หากเราไม่ใส่ใจดูแล ปล่อยทิ้งไว้นานอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ ข้อเข่าเสื่อม ก่อนวัยอันควรได้ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่ข้อเข่า อย่าละเลย แนะนำให้รีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม