ปัญหาการสูบบุหรี่
ปัจจุบันการสูบบุหรี่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญทั้งระดับประเทศและระดับโลก จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก เมื่อปี พ.ศ. 2563 พบประชากรที่สูบบุหรี่ทั่วโลกสูงถึง 22.3% โดยประชากรชาย 36.7% และประชากรหญิง 7.8% สูบบุหรี่ ส่วนผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ทั่วโลกสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี โดยเป็นจากทั้งการสูบบุหรี่โดยตรง และการได้รับควันบุหรี่ทางอ้อม (การสูบบุหรี่มือสอง) ส่วนในประเทศไทยนั้น จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2564 พบประชากรสูบบุหรี่สูงถึง 17.4%
สารประกอบในบุหรี่ และผลกระทบต่อระบบการหายใจ
การสูบบุหรี่ ทั้งในรูปแบบบุหรี่ใบยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ผู้สูบได้รับสารที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้สูบ หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบทางเดินหายใจ
สารประกอบที่เป็นอันตรายจากบุหรี่ใบยาสูบ เช่น
- นิโคติน ทำให้เสพติด
- ทาร์ (น้ำมันดิน) ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ มีอาการไอเรื้อรัง และทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองได้
- คาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ไปขัดขวางการขนส่งออกซิเจนของร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่
- ไฮโดรเจนไซยาไนด์ พบทำลายเยื่อบุหลอดลม เกิดอาการไอ มีเสมหะ
- แอมโมเนีย
- โลหะหนัก เช่น แคดเมียม, ตะกั่ว
- สารก่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ มากกว่า 60 ชนิด
ส่วนในบุหรี่ไฟฟ้า ก็พบสารก่ออันตรายได้เช่นกัน ได้แก่
- นิโคติน
- โพรพิลีนไกลคอล มีรายงานว่าทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตาและคอ
- วิตามินอีที่ผสมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า พบรายงานทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อปอดรุนแรงแก่ผู้สูบ
- สารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ
- สารก่อมะเร็ง
การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น
- มะเร็งปอด พบว่าการสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ใบยาสูบ และบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดมากกว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้สูงถึงประมาณ 20 เท่า
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย ออกแรงได้น้อยลง ไอเรื้อรัง อาจมีอาการหายใจเสียงวี้ด และเกิดการกำเริบของโรครุนแรงเป็นครั้งคราวได้
- วัณโรค พบว่าผู้สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นวัณโรคปอด
- โรคหอบหืด พบว่าผู้ป่วยโรคหอบหืดที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย อาจทำให้อาการของโรคหอบหืดรุนแรงมากขึ้น และทำให้เกิดการกำเริบของโรคหอบหืดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
การสูบบุหรี่และการเกิดมะเร็ง
นอกจากมะเร็งปอดและทางเดินหายใจแล้ว การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ เช่น กล่องเสียง, ช่องปากและคอหอย, หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, ลำไส้, ตับ, ตับอ่อน, ปากมดลูก, ไต, กระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย