โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน(acute bronchitis)  มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์  

ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ90 เกิดจากเชื้อไวรัส มักเกิดตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง  ทำให้เกิดการติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม โดยจะมีอาการไอและมีเสมหะร่วมด้วย อาจมีอาการไข้หรือไม่มีก็ได้

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง(chronic bronchitis)  มีอาการเกิน 3 สัปดาห์  

อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้  หรือสัมผัสกับมลภาวะหรือสารระคายเคือง เช่น ฝุ่น , ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้   โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว 

การติดต่อ 

ติดต่อผ่านทางน้ำมูก น้ำลายและเสมหะ โดยการหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในละอองฝอยกระจายอยู่ในอากาศ จากการไอหรือหายใจรดกัน ระยะเวลาแพร่เชื้อสามารถแพร่ได้ก่อนเกิดอาการและหลังเกิดอาการ

อาการ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจบริเวณหลอดลม เชื้อจะแบ่งตัวและทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมและบวมมากขึ้น ส่งผลให้หลอดลมตีบแคบ อากาศไหลผ่านหลอดลมเข้าปอดได้ไม่ดี หายใจลำบาก ในรายที่หลอดลมตีบมากๆจะหายใจดังวี้ดได้ และจากการอักเสบทำให้การขับเสมหะของเยื่อบุหลอดลมไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไอมากขึ้น อาจไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะ อาจมีอาการอื่นๆคล้ายอาการของโรคหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไข้ต่ำๆ ได้ อาการของโรคหลอดลมอักเสบส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาการไอแห้งๆ อาจเป็นได้นานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาการไอ จะไอบ่อยครั้ง ไอถี่ๆ หรือเป็นชุด อาจมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อหน้าอกหรือชายโครงได้

การรักษา 

  1. การรักษาตามอาการ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และควรให้เด็กดื่มน้ำมากๆ หรืออาจให้ดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว เพื่อทำให้ชุ่มคอและบรรเทาอาการไอ อีกทั้งยังช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และลดความเหนียวของเสมหะได้ เนื่องจากอาการไอเป็นอาการหลัก จึงอาจบรรเทาอาการด้วยยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยากดอาการไอในผู้ป่วยเด็ก (Cough suppression) เพราะทำให้เกิดอาการง่วงซึม เสมหะแห้งเหนียวมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  1. การรักษาประคับประคอง
  • การทำกายภาพบำบัดทรวงอกเพื่อระบายเสมหะ แนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่ไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
  1. การรักษาจำเพาะ
  • เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของหลอดลมอักเสบเกิดจากไวรัส ดังนั้นการให้ยาต้านจุลชีพจึงไม่มีประโยชน์ ยกเว้นในรายที่มีลักษณะบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย

การป้องกัน

  • เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งเมื่อสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะ
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ฝุ่น เขม่าควันต่างๆ หรือสารที่ระคายเคืองทางเดินหายใจ

การได้รับวัคซีนที่จำเพาะเจาะจงกับเชื้อ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไอกรน (Pertussis) มีประโยชน์ในการช่วยลดอาการของผู้ป่วยในระหว่างที่มีการติดเชื้อได้

 

Scroll to Top