โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้า (Rotavirus)
โรคไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคท้องเสียในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และในบางรายอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การติดต่อของโรค
เกิดจากการสัมผัสโดยตรงจาการได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากหรือทางอ้อมจากการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆที่ปนเปื้นอุจจาระที่มีไวรัส ไวรัสโรต้านี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว และอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศเย็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถขับถ่ายเชื้อได้ในปริมาณมากหลายล้านตัว มากับสิ่งที่อาเจียนออกมา และอุจจาระ ได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์ และเชื้อไวรัสโรต้าเพียง 10 ตัวเท่านั้น ก็สามารถก่อโรคได้แล้ว เชื้อจากคนที่ป่วยจะแฝงตัวอยู่ตามสิ่งของ เช่นของเล่นเด็ก และอยู่ได้นานเป็นวันจึงก่อให้เกิดการแพร่กระจายและระบาดได้ง่าย
อาการของโรค
- หลังได้รับเชื้อไวรัสโรต้า จะมีอาการป่วยภายใน 1-2 วัน โดยความรุนแรงจะแตกต่างกัน หากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกอาจจะรุนแรงได้ ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน นำมาก่อน อาจอาเจียนได้มากถึง 7 – 8 ครั้งต่อวัน ทำให้อ่อนเพลียทานอาหารไม่ได้
- 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีไข้ ซึ่งอาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาจทำให้เกิดอาการชักได้ในเด็กเล็ก
- ต่อมามีอาการปวดท้อง ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำตามมา ซึ่งหากมีอาการรุนแรง อาจทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จนช็อคและเสียชีวิตได้
- อาจยังมีอาการท้องเสีย ท้องอืดนานต่อไปได้อีก 1- 3 สัปดาห์
การดูแลและการรักษา
- ในปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นแบบประคับประคองตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง สามารถรับประทานได้ อาจให้ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ให้ยาแก้อาเจียน ยาลดไข้ หากพบมีภาะพร่องเอนไซม์แลคเตส อาจพิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส หลีกเลี่ยงอาหารเส้นใยประเภท ผัก ผลไม้ทุกชนิด ควรเน้นอาหารประเภทแป้งและโปรตีน
- ในกรณีที่มีไข้สูง อาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง ให้รีบพามาพบแพทย์ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียน้ำรุนแรงจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารน้ำทดแทนทางเส้นเลือด
- ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้และอาจก่อให้เกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา
วิธีการป้องกัน
เนื่องจากไวรัสโรต้าติดต่อกันทางการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือทางอ้อมผ่านมือ สิ่งของ และอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก การหมั่นล้างมือด้วยสบู่ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดของเล่น หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารร่วมกัน หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่แออัดที่มีการเล่นร่วมกันในช่วงที่มีการระบาดของโรค อาจช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี้การกินนมแม่ อาจช่วยลดความรุนแรงของโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าได้
ไวรัสโรต้าป้องกันได้ด้วยวัคซีน
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคโรต้าไวรัสที่ใช้เฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น มี 2 ประเภท คือ แบบให้ 2 ครั้งและแบบให้ 3 ครั้ง
- แบบให้ 2 ครั้ง แนะนำให้หยอดวัคซีนนี้ ตอนอายุ 2 เดือนและ 4 เดือน
- แบบให้ 3 ครั้ง แนะนำให้หยอดวัคซีนนี้ ตอนอายุ 2 , 4 และ 6 เดือน ตามลำดับ