Post Views: 473
วิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีอัตราความสำเร็จสูงที่สุด คือการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องหลังจากการกระตุ้นไข่ด้วยยาฉีด และการเก็บไข่เพื่อนำไปใช้ในการปฏิสนธิ ขั้นตอนคร่าว ๆ ของการกระตุ้นไข่ และการเก็บไข่มีรายละเอียดดังนี้
1 การกระตุ้นไข่ (Controlled Ovarian Stimulation)
- ผู้รับบริการมาปรึกษาแพทย์ในวันที่ 2-3 หลังจากมีประจำเดือนวันแรก แพทย์จะตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอดเพื่อคัดกรองความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น เนื้องอกมดลูก ถุงน้ำรังไข่และรอยโรคที่มองเห็นได้ของเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ และเพื่อตรวจดูฟองไข่ที่รังไข่ทั้งสองข้างเพื่อประเมินปริมาณไข่ตั้งต้นก่อนการฉีดยากระตุ้นไข่
- ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนที่บ่งบอกสภาพทำงานของรังไข่ในรอบเดือนนั้น
- เมื่อทราบผลตรวจเลือดและผลตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงแล้ว ถ้าแพทย์พิจารณาว่ารอบเดือนนี้เหมาะสมสามารถดำเนินการกระตุ้นไข่ได้ แพทย์จะสั่งยาฉีดเพื่อช่วยกระตุ้นไข่ให้เจริญเติบโตและมีปริมาณมากกว่ารอบเดือนปกติ
- ตรวจติดตามผลการกระตุ้นไข่ตามนัดของแพทย์ รับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน ตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและพิจารณาแผนการกระตุ้นไข่
- เมื่อมีปริมาณและขนาดฟองไข่โตเหมาะสมแล้วแพทย์จะให้ฉีดยาให้ไข่สุก และนัดเก็บไข่ที่ 35-40 ชั่วโมงหลังฉีดยา
2 คำแนะนำในการดูแลตัวเองระหว่างการกระตุ้นไข่
- ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่ควรเครียดหรือกังวล
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- งดแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- งดสูบบุหรี่
- งดการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น กระโดดเชือก วิ่งทางไกล และเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
**หมายเหตุ : ระหว่างการกระตุ้นไข่ ควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด และใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรปรับเวลาหรือขนาดของยาเองเพราะจะส่งต่อการเจริญเติบโตของไข่ได้**
3 การเตรียมตัวก่อนเก็บไข่
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาเก็บไข่
- งดอาหารที่ทำให้ท้องผูก ท้องอืด เช่น ถั่ว และอาหารที่ทำให้ท้องเสีย เช่น ของหมักดอง
- งดทำเล็บทั้งเล็บมือและเล็บเท้า งดใส่คอนแทคเลนส์ ถ้าสายตาสั้น/ยาว แนะนำให้ใส่แว่นมา งดการแต่งหน้า
- เจ้าหน้าที่จะนัดมาก่อนเวลาเก็บไข่อย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อเตรียมตัว ควรมาให้ตรงเวลาเพราะจะมีผลต่อเวลาเก็บไข่ และจะส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของไข่ที่เก็บได้
- ควรมีผู้ดูแลมาด้วย 1 คน เพื่อคอยดูอาการช่วงเวลาการเดินทางกลับบ้าน หลังจากที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้กลับบ้านได้
4 การเก็บไข่ (Ovum Pick Up)
- เจ้าหน้าที่ซักประวัติ / ทวนสอบชื่อ-สกุล ก่อนทำหัตถการ
- วัดสัญญาณชีพ (ความดันโลหิต / อัตราการหายใจ / ชีพจร / อุณหภูมิร่างกาย)
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
- วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาเพื่อให้ผู้ป่วยหลับ
- แพทย์เก็บไข่ ใช้เวลา 15-30 นาที
- เมื่อเก็บไข่เสร็จแล้ว จะย้ายผู้ป่วยไปนอนพักฟื้นที่ห้องพักฟื้นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง พยาบาลจะติดตามสัญญาณชีพทุก 15-30 นาทีขณะพักฟื้น ถ้าไม่มีอาการผิดปกติหลังเก็บไข่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้
- ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด คำแนะนำและใบนัดก่อนกลับบ้าน
5 การปฏิบัติตัวหลังการเก็บไข่
- ในช่วงวันแรก ๆ ไม่ควรขับรถเองหรือเดินทางกลับบ้านคนเดียว
- ไม่ควรยกของหนัก ออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือมีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังเก็บไข่ 1 สัปดาห์
- คอยสังเกตอาการหลังการเก็บไข่ หากปวดท้องมากหรือท้องอืดบวมควรมาพบแพทย์ทันที ไม่ควรรับประทานยาเองโดยแพทย์ไม่ได้สั่ง
- คอยสั่งเกตเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยปกติจะมีเลือดออกทางช่องคลอดได้เล็กน้อยหลังการเก็บไข่ใน 1-2 วันแรก ลักษณะเลือดจะมีสีชมพูจาง ๆ หรือสีคล้ำลักษณะเลือดเก่าที่ค้างอยู่ และจะหายไปได้เอง หากลักษณะเป็นเลือดสีแดงสดต้องรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลอย่างเร่งด่วน
- หลังการเก็บไข่รอบประจำเดือนจะมาภายใน 7-10 วัน หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้มีภาวะท้องผูก ท้องเสียง่าย เช่น ถั่ว ของหมักดอง