โรคกระดูกพรุน
คือภาวะที่มวลกระดูกลดลง ทำให้ความแข็งแรงของโครงสร้างกระดูกต่ำ เปราะ หักง่าย ซึ่งในปัจจุบันคนทั่วโลกให้ความสำคัญ และยกเป็นนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) แล้ว เนื่องการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและกระดูกสันหลัง จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมาและอันตรายถึงชีวิตได้ มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง จากสถิติของกรมการแพทย์ ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนและเกิดการหักของกระดูก 30000 คนต่อปี ตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ข้อมือ ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง และจากสถิติพบว่าอุบัติการณ์การเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุคนไทยจะสูงขึ้นปีละ 180 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัย เป็น 450-780 รายต่อแสนประชากรผู้สูงวัยในปี 2568 และที่น่าตกใจคือ มีโอกาสเสียชีวิต ถึง 20% ใน 1 ปี และ 40% ไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง 80% ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้
แต่ในประเทศไทยคนยังไม่ค่อยให้ความสำคัญและรักษาเท่าไรนัก อาจจะเกิดจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน ขาดการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งประเทศไทยเองก็จะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้านี้ คนจะอายุยืนขึ้น โรคกระดูกพรุนและความเสี่ยงจากการล้มก็มากขึ้นตามมา ฉะนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนในผู้ป่วยสูงอายุ
การป้องกัน แบ่งเป็น 2 หลักใหญ่ๆ คือ
- ป้องกันไม่ให้ล้ม ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ดี เช่น แสงสว่างให้พอ ราวจับในจุดที่เสี่ยงล้ม ตรวจเชคโรคประจำตัวที่อาจมีผลต่อการมองเห็น และการทรงตัว รวมถึงออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างการทรงตัวที่ดี เช่น รำไท้เก็ก ยืน ขาเดียว
- เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก โดย
- การออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น เดิน เดินเร็ว ร่วกกับการสัมผัสแสงแดดเพื่อเพิ่มวิตามินดี
- การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต ผักใบเขียวเข้ม งาดำ ถ้าคิดว่ากินได้น้อยหรือไม่เพียงพอ ควรเสริมด้วยยาแคลเซียมผสมวิตามินดี
- รักษาโดยยากระดูกพรุน เช่น ยาลดการสลายหรือเสริมสร้างกระดูก (โดยแพทย์)
ที่บอกว่าเป็น “ภัยเงียบใกล้ตัว” เนื่องจากภาวะกระดูกพรุนมักจะ “ไม่แสดงอาการ” รู้ตัวอีกทีก็มีกระดูกหักแล้ว ดังนั้น ขอแนะนำให้ตรวจมวลกระดูก เพื่อดูว่ามวลกระดูกอยู่ในขั้นไหน เพื่อได้รับการแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ในกรณีดังต่อไปนี้
- ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
- หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี รวมถึงเคยผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง
- เคยกินยากลุ่ม steroid หรือกำลังกินยากลุ่มนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- มีประวัติบิดามารดาสะโพกหัก
- เคยล้มแล้วมีกระดูกหักมาก่อน