การฉายรังสี,การฉายแสง และรังสีรักษา มีความหมายเดียวกัน
การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ใช้การผสมผสานกันทั้งวิธีการผ่าตัด การฉายรังสี เคมีบำบัด โดยอาศัยหลักการที่ว่าการฉายรังสีไปยังเนื้องอก รังสีจะทำให้เกิดการทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์เนื้องอกโดยตรงทำให้เกิดการตาย
เป้าหมายการรักษาด้วยการฉายรังสีมี 2 ประเภท
- การรักษาให้หายขาด ในกลุ่มที่คาดหวังว่าจะรักษาให้หายขาดได้ ต้องพิจารณาให้รังสีแก่ผู้ป่วยในปริมาณที่ เพียงพอ ซึ่งบางครั้งอาจจะมีผลข้างเคียงได้ โดยยึดหลักสำคัญคือ การให้ปริมาณรังสีที่สูงสุด เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดและผลข้างเคียงที่น้อยที่สุด
- การรักษาแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าการรักษาเพื่อหายขาด ผลที่ได้คือเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย โดยลดอาการเหล่านี้คือ อาการปวด การอุดตัน ภาวะเลือดออก การรักษาแผล รักษากระดูกหักจากมะเร็ง เป็นต้น
เตรียมตัวก่อนฉายรังสี
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่สุก สะอาดมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากสัตว์ ปลา ไข่ นม ผัก ผลไม้ ฯลฯ
- ดูแลรักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย
การดูแลสุขภาพทั่วไปขณะได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
- อาหาร ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ วิตามินสูง โปรตีนสูงย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา นม ไข่ ตับสัตว์ ถั่วต่างๆ ผัก ผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2,000 cc น้ำช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และระบายความร้อนออกจากร่างกาย
- รักษาความสะอาดทั่วไปของร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะผู้ป่วยที่รักษาด้วยรังสี จะอ่อนเพลียและภูมิต้านทานต่ำ อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- การขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการท้องผูกหรือท้องเสียให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบ
- การพักผ่อนนอนหลับ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ถ้านอนไม่หลับให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทราบ
- การออกกำลังกายตามสภาพของร่างกาย และทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และการไหลเวียน ของโลหิตดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย หรือมีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ให้แจ้งแพทย์ หรือพยาบาลทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือ
- ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ ดูทีวี และพูดคุยกับผู้อื่น
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ CBC สัปดาห์ละครั้ง เพื่อประเมินภาวะสุขภาพขณะรับการฉายรังสี
การดูแลผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
- ควรดูแลบริเวณที่ฉายรังสีให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ แต่ควรใช้เป็นน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ แป้ง เพราะแป้งฝุ่นอาจมีส่วนผสมของโลหะหนัก ทำให้ระคายเคือง ผิวดำคล้ำมากขึ้น ให้ใช้แป้งข้าวโพดบริสุทธิ์แทน และภายหลังการอาบน้ำควรใช้ผ้าเช็ดตัวที่อ่อนนุ่มซับเบา ๆ ให้แห้งแทนการเช็ดตัวปกติ
- ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อนหรือประคบน้ำแข็งบริเวณที่ฉายรังสี และควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน ๆ หรือการสัมผัสบริเวณที่ฉายรังสีโดยตรงกับความร้อนหรือความเย็น เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้
- ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือยาทาผิวหนังบริเวณฉายรังสีให้อยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์เจ้าของไข้
- ควรสวมเสื้อผ้าหลวม ๆ เนื้อผ้านุ่ม เบาสบาย ระบายอากาศได้ดีที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อลดการเสียดสีผิวหนัง
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณลำคอ ผิวหนังอาจมีสีแดง แห้งตึง เกิดอาการคัน ดำคล้ำ และตกสะเก็ด หรือแตกเป็นแผล ห้ามถู แกะ เกา
- ผู้ป่วยไม่ควรว่ายน้ำ เนื่องจากในสระว่ายน้ำที่มีคลอรีน จะทำให้ผิวแห้งและเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
- รักษาเส้น Skin Marker บริเวณที่ฉายรังสีที่แพทย์และเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ เพราะถ้าเส้นลบต้องทำการตรวจสอบตำแหน่งและความถูกต้องใหม่ ทำให้เสียเวลาในการรักษา และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม กรุณาอย่าขีดเส้นที่ลบเลือนด้วยตนเอง
การติดตามผลการรักษา
ระหว่างการฉายรังสี รังสีแพทย์จะตรวจประเมินผลการรักษา และดูแลบรรเทาอาการผลข้างเคียงจากการฉายรังสีประมาณสัปดาห์ละครั้ง แต่หากมีอาการผิดปกติก็สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ทันที นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้างเคียงจากการฉายรังสีมาก บางรายอาจต้องหยุดพัก หรือเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรือได้รับยาเพื่อลดอาการตามแต่แพทย์เห็นสมควร
หลังครบการฉายรังสี ผู้ป่วยยังคงต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับช่วงฉายรังสีต่อ 2-3 สัปดาห์ แพทย์จะนัดให้มาตรวจประเมินผลการรักษาประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังฉายรังสีเสร็จ จากนั้นนัดตรวจทุก 1-3 เดือนแล้วแต่ชนิดและขั้นตอนการรักษาของโรค การติดตามผลการรักษาจะห่างขึ้นเป็น 4-6 เดือนจนกระทั่ง 5 ปี