กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสงูสวัด (Herpes zoster keratitis)
เชื้อไวรัส varicella-zoster (VZV) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดได้ทั้งโรคอีสุกอีใสและงูสวัด โดยหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกที่ทำให้เกิดโรคอีกสุกอีใสขึ้น เชื้อไวรัสดังกล่าวจะเดินทางไปฝังตัวอยู่ที่ปมประสาทของไขสันหลัง ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้อาจพักตัวอยู่อย่างสงบไม่ก่อให้เกิดโรคใดๆได้นานหลายสิบปี จนกระทั่งเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้อ่อนแอลง เชื้อจะถูกกระตุ้นทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ได้ โดยการติดเชื้อไวรัส VZV ซ้ำ จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามแนวเส้นประสาทนั้นๆ เกิดเป็นผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาทของผิวหนัง ซึ่งการติดเชื้ออาจลุกลามไปถึงตาได้เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำในกรณีมีการอักเสบติดเชื้อลุกลามมาถึงบริเวณดวงตา อาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ทุกส่วนของดวงตา ตั้งแต่ เปลือกตาอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ การอักเสบในช่องลูกตา เส้นประสาทตาอักเสบ หรือเส้นประสาทสมองเป็นอัมพาตได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสงูสวัดลุกลามมาที่ตา
- Hutchinson’s sign คือลักษณะผื่นงูสวัดที่ลามมาถึงบริเวณด้านข้างและปลายจมูก ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เป็นแขนงหนึ่งของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แขนงที่ 1 กล่าวคือ การติดเชื้อถึงผิวหนังบริเวณนี้ มีความสัมพันธ์กันที่จะมีการติดเชื้อลุกลามเข้าไปถึงในลูกตาได้
- อายุ การเกิดงูสวัดที่ตามักเกิดในผู้ป่วยช่วงอายุ 50-60 ปี โดยอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ มักรุนแรงและยาวนานกว่าการติดเชื้องูสวัดทั่วๆไป
- ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นโรคงูสวัดที่รุนแรง
อาการและอาการแสดงเฉพาะ
ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสงูสวัดมักจะมีอาการนำ ได้แก่ อ่อนเพลีย มีไข้ วิงเวียนหรือมีอาการปวดศีรษะ ในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น 3-5 วัน จากนั้นจึงจะเริ่มมีอาการเจ็บ ปวดแสบปวดร้อน ชา หรือคัน บริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท บางรายอาจปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับพักได้ ต่อมาจะเริ่มมีผื่นแดง เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่มีอาการติดเชื้อ จากนั้นผื่นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง ก่อนที่จะแห้งสนิททิ้งรอยดำหรือรอยแผลเป็น รวมระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยหลายรายที่ผื่นแห้งสนิทแล้ว ก็ยังจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามเส้นประสาทได้ ซึ่งอาการปวดแสบร้อนนี้จะค่อยๆทุเลาลง แต่อาจคงอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี อาการปวดมักแย่ลงในช่วงกลางคืน หรือเมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย เช่น ลม การสัมผัส หรือความร้อน เป็นต้น
หากมีการติดเชื้องูสวัดและมีผื่นขึ้นบริเวณรอบดวงตา เปลือกตา หน้าผาก และลามมาถึงด้านข้างหรือส่วนปลายของจมูก จำเป็นต้องตรวจตาให้ครบทุกส่วนโดยละเอียด เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ดวงตา อาการและอาการแสดงทางตาพบได้ในทุกส่วนของดวงตา ได้แก่
- เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยจะพบเยื่อบุตามีลักษณะ อักเสบ บวม แดง
- การอักเสบติดเชื้อชั้นเนื้อเยื่อบนสุดของกระจกตา (Epithelial keratitis) พบได้มากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสงูสวัดบริเวณรอบดวงตา โดยมักพบในช่วงแรกหลังจากเริ่มมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง และมักหายได้เองภายในไม่กี่วัน รอยโรคที่ตรวจพบจะเป็นลักษณะของเส้นที่มีการแตกกิ่ง หรือตรวจพบลักษณะเป็นจุดๆ บนผิวกระจกตา
- การอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตา (Stromal keratitis) พบได้ประมาณร้อยละ 5 และมักเกิดในช่วงท้ายของการติดเชื้อ ในช่วงที่ผื่นแดงและตุ่มน้ำเริ่มแห้งยุบ ลักษณะรอยโรคจะแยกได้ยากจากการอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตาจากเชื้อไวรัสเริม มักตอบสนองได้ดีต่อยาหยอดตากลุ่ม corticosteroid แต่อาจเรื้อรังกว่าและจำเป็นต้องลดยาอย่างช้าๆ
- การอักเสบติดเชื้อชั้นในสุดของกระจกตา (Endothelial keratitis) พบได้ไม่บ่อยเท่ากับในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเริม และไม่สามารถแยกโรคทั้งสองออกจากกันได้อย่างแน่ชัด
- การอักเสบในช่องลูกตา (Uveitis) พบได้ทั้งการอักเสบในส่วนหน้าหรือส่วนหลังของตา
- จอประสาทตาอักเสบ (Retinitis) ถือเป็นภาวะจอประสาทตาอักเสบที่รุนแรงและมีการดำเนินของโรคค่อนข้างเร็ว มักพบในผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ
แนวทางการรักษา
- การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดทาน หลังจากที่มีผื่นขึ้นตามผิวหนังภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาการติดเชื้อ ลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อลุกลามมาสู่ดวงตา รวมทั้งช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท พิจารณาให้ acyclovir 800 mg รับประทาน 5 ครั้ง/วัน นาน 7-10 วัน หรืออาจพิจารณาให้ valacyclovir 1 g หรือ famciclovir 250-500 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง
- การรักษาด้วยยาหยอดตา จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดตา steroid เพื่อลดอาการอักเสบของกระจกตาหรือในรายที่พบภาวะม่านตาอักเสบ