กระจกตาอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย

ภาวะกระจกตาอักเสบติดเชื้อจากแบคทีเรีย (Bacterial keratitis)


ปัจจัยเสี่ยง

  1. การใช้เลนส์สัมผัส (Contact lens) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ใส่ค้างคืนขณะนอน เนื่องจากการใช้ contact lens เป็นประจำจะทำให้ผิวกระจกตาเกิดภาวะขาดออกซิเจน และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บเล็กๆน้อยได้มากกว่าปกติ นอกจากนั้นเชื้อแบคทีเรียอาจเกาะหรือสะสมอยู่ที่ผิวของเลนส์ เป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของกระจกตาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การติดเชื้อมักสัมพันธ์กับขั้นตอนการดูแลรักษาความสะอาดของเลนส์ที่ไม่ดีพอ แต่อย่างไรก็ตามการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีการดูแลรักษาความสะอาดอย่างดีแล้วก็ตาม
  2. อุบัติเหตุต่อดวงตาและประวัติการผ่าตัดตามาก่อน
  3. โรคของผิวตาและกระจกตาผิดปกติ
  4. ภาวะทางร่างกาย ได้แก่ โรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภาวะขาดสารอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

อาการและอาการแสดงเฉพาะ

ผู้ป่วยกระจกตาอักเสบติดเชื้อ จะมีอาการปวดตา ตาแดง สู้แสงไม่ได้ ตามัวลงและมีขี้ตามาก ลักษณะขี้ตาเป็นชนิดเมือกปนหนอง หากเป็นมากจะเห็นจุดขาวหรือฝ้าขาวที่กระจกตา

แนวทางการรักษา

เป้าหมายสำคัญของการรักษาโรคกระจกตาอักเสบติดเชื้อ คือการกำจัดเชื้อและควบคุมการอักเสบ จึงจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเป็นหลัก  โดยทั่วไปจะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดที่ครอบคลุมเชื้อในวงกว้าง (topical broadspectrum antibiotics) เป็นอันดับแรก โดยพิจารณาให้หยอดยาบ่อยๆทุก 1 ชั่วโมง   แล้วจึงพิจารณาลดความถี่ของการหยอดยาลงตามลักษณะอาการและอาการแสดงที่ตอบสนองต่อยา 

การรักษาอื่นๆ

นอกเหนือจากการให้ยาปฏิชีวนะ ในผู้ป่วยกระจกตาอักเสบติดเชื้อ  ยังจำเป็นต้องให้ยาเสริมอื่นๆ  ได้แก่  ยาขยายม่านตา (Cycloplegics) เพื่อลดการเคลื่อนไหวของม่านตาและลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อม่านตา  ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดตา  และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดพังผืดยึดติดระหว่างม่านตาและเลนส์ตา  นอกจากนี้ยังมีการให้ยาแก้ปวด  น้ำตาเทียมหรือยาที่ช่วยเร่งการสมานแผล 

การพิจารณาให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 

  1. การอักเสบติดเชื้อของกระจกตาที่รุนแรง ที่ทำให้ระดับการมองเห็นลดลง
  2. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหยอดยาด้วยตัวเองที่บ้านได้ตามแพทย์สั่ง
  3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลับมาให้แพทย์ตรวจติดตามการรักษาได้
  4. ผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของกระจกตาและจำเป็นต้องให้การรักษาอื่นๆ เพิ่มเติม เช่นผู้ป่วยกระจกตาทะลุที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด  หรือผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อลุกลามไปบริเวณเนื้อเยื่อข้างเคียง  จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดและการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด

แนวทางการติดตามการรักษา

จักษุแพทย์จะนัดตรวจเพื่อประเมินการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะเป็นระยะ  โดยพิจารณาจากอาการและอาการแสดงหลังจากได้ยาไปแล้วประมาณ  24-48 ชั่วโมง  หากมีการตอบสนองต่อยาได้ดี  อาการปวดลดลง  ขี้ตาลดลง  เปลือกตาและเยื่อบุตาขาวบวมแดงลดลง  รอยโรคบริเวณกระจกตาเริ่มจางลง  ปฏิกิริยาในช่องหน้าม่านตาลดลง  จักษุแพทย์จะค่อยๆปรับลดความถี่ของการหยอดยาลง  แต่หากตรวจประเมินแล้วพบว่าอาการและอาการแสดงไม่ดีขึ้น  หรือมีการดำเนินโรคที่เพิ่มมากขึ้น  แม้จะได้รับการรักษาหยอดยาอย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม  จักษุแพทย์อาจทำการเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ  และพิจารณาปรับเปลี่ยนการรักษา  หรือชนิดของยาปฏิชีวนะตามเชื้อก่อโรค

Scroll to Top