CT calcium score
ปัจจุบันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเป็นการเจ็บป่วยที่สำคัญของคนไทย โดยมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคนี้มากขึ้น อาการที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือเจ็บหน้าอกและเหนื่อย ไม่สามารถออกกำลังหรือปฏิบัติภารกิจทางกายได้ ซึ่งมักเกิดจากหลอดเลือดที่ตีบ และการเสียชีวิตก็มักเกิดจากการมีภาวะการตายฉับพลันของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งมักจะเกิดจากหลอดเลือดที่อุดตันฉับพลัน
การตีบของหลอดเลือด หรือการตันของหลอดเลือดนั้น มักจะมีภาวะการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด ซึ่งถือว่าเป็นภาวะเสื่อมอย่างหนึ่ง (Degenerative Change) และการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดนี้จำเป็นต้องมีการสะสมของแคลเซียมหรือหินปูนร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลอดเลือดมีลักษณะแข็ง ดังนั้นการตรวจแคลเซียมที่เกาะอยู่กับหลอดเลือดหัวใจก็เปรียบเสมือนการตรวจพบการเกาะหรือสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด
การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ ( CT calcium score )
Calcium score เป็นการตรวจคัดกรองระดับไขมันและหินปูนเกาะที่หลอดเลือดโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ความเร็วสูงในการตรวจเพื่อดูทางเดินของหลอดเลือดหัวใจซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงหลักที่ส่งเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยหินปูนดังกล่าวจะบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยิ่งพบมากยิ่งบ่งบอกถึงความเสี่ยงที่สูงมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจที่ง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องมีการเตรียมตัวผู้ป่วยให้ยุ่งยากเพียงแค่ผู้ตรวจกลั้นหายใจไม่ถึง 10 วินาที และงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดสูบ บุหรี่เป็นเวลา 4 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ
แปลผล Calcium score report อย่างไร
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง จะแสดงถึงค่าตัวเลขตาม NCEP (National Cholesterol Education Program) ดังนี้
Calcium score จะแสดงให้เห็นถึงระดับไขมันและหินปูนที่หลอดเลือด
- Score 0 = มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในระดับต่ำมาก (น้อยกว่า 5%)
- Score 1-10 = มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในระดับน้อย (น้อยกว่า 10%)
- Score 11-100 = มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในระดับปานกลาง (ควรแปลผลควบคู่กับระดับไขมันในเลือดและเริ่มต้นการรักษา)
- Score 101-400 = มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในระดับปานกลาง ถึง สูง (ควรเริ่มการรักษาด้วยการทานยา, ควบคุมอาหาร, ไขมัน และการออกกำลังกาย)
- Score over 400 = มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ในระดับสูง (ควรได้รับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไป)
การแปลผลการตรวจ CT Calcium Score
หากตรวจไม่พบหินปูนที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ หรือ Coronary calcium score เป็น 0 บ่งชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะมีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันต่ำมาก (น้อยกว่า 5%)ในทางตรงกันข้ามหากค่า Coronary calcium score สูงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าที่มากกว่า 400 จะบ่งชี้ว่าความเสี่ยงที่จะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภายในระยะเวลา 5 ปีสูงมาก แม้ว่าจะมีอาการของโรคหัวใจขาดเลือด หรือไม่ก็ตาม
ผู้ที่มีความเสี่ยงควรตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ
- มีไขมันสูง (โดยเฉพาะ LDL > 190 )
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือ ผ่าตัดมดลูกก่อนอายุ 40 ปี
- ผู้ชายอายุ > 45 ปี , ผู้หญิงอายุ > 55ปี
- ผู้เป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดืมแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเคยมีประวัติ
- ผู้เป็นเบาหวาน