วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์
วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนชนิดฉีด ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้ว โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยประกอบด้วยทั้งสายพันธุ์ A และ B ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน โดยมีลักษณะทางคลินิกที่สำคัญคือ มีไข้สูงแบบทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลีย
บุคคลที่ควรรับการฉีดวัคซีน
- สตรีมีครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบําบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV)
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
- โรคอ้วน (ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 kg หรือ BMI มากกว่า 35 kg/m2)
- บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- บุคคลดังกล่าวควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยส่วนประกอบของวัคซีนนี้จะปรับเปลี่ยนทุกปีตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ตลอดเวลา
ช่วงเวลาที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อน ฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่
การสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนไข้หวัดใหญ่
ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายใน 2 – 3 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และระยะเวลาในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปจะอยู่ในระหว่าง 6 – 12 เดือน
บุคคลที่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่หรือโปรตีนจากไข่
- ผู้ที่มีประวัติเป็น Guillain–Barré syndrome มาก่อน
- ผู้ที่มีอาการไข้ ติดเชื้อเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัวกำเริบ ไม่สามารถควบคุมได้ ควรเลื่อนการให้วัคซีนออกไป
- ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง หรือผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในวัคซีน
อาการข้างเคียง วัคซีนไข้หวัดใหญ่
วัคซีนทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการบวม แดง ห้อเลือด ตุ่มนูนบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เหงื่อออก อาการดังกล่าวมักหายเองภายใน 1 – 2 วัน
การแพ้ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตมีน้อยมาก ถ้าหากเกิดขึ้นจะปรากฏภายใน 2 – 3 นาที ถึง 2 – 3 ชั่วโมงหลังฉีด โดยอาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีด อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติ
หลังรับการฉีดวัคซีนควรเฝ้ารอสังเกตอาการข้างเคียงในสถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที หากมีอาการข้างเคียงควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนรับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
การดูแลเมื่อมีอาการข้างเคียง
หากมีอาการปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด ให้ประคบเย็นหรือรับประทานยาแก้ปวดก่อนการฉีดวัคซีน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการ หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นมาก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และแจ้งอาการให้ทราบโดยละเอียด
การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนอื่นๆ
วัคซีนที่ได้รับการพิจารณาว่ามีผลในการลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบในชุมชนต่างประเทศ คือวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบชนิด 23 – polyvalent vaccine มีประสิทธิภาพในการป้องกันปอดอักเสบในผู้ที่ภูมิคุ้มกันปกติได้ดี แต่ประสิทธิภาพจะลดลงในผู้สูงอายุและอาจไม่ค่อยได้ผลเลยในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง จึงควรฉีดในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมีความปลอดภัยสูงมาก หากจำเป็นต้องฉีดทั้งสองชนิดสามารถฉีดพร้อมกันได้
นอกจากนี้ ยังสามารถให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนอื่นๆได้ เพราะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย จึงไม่มีผลต่อวัคซีนอื่นๆ สามารถให้วัคซีนพร้อมกันได้โดยฉีดวัคซีนเข้าชั้นกล้ามเนื้อของต้นแขนคนละข้าง ไม่ควรนำวัคซีนมาผสมกัน