PTSD “โรคเครียด ภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ”
PTSD (Post-traumatic stress disorder) หรือ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คือ ภาวะความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง การสูญเสียอย่างฉับพลันทันทีต่อหน้า ที่อาจจะเผชิญเองหรืออยู่ในเหตุการณ์สะเทือนนั้นด้วย ทำให้เกิดภาวะความเครียดทางจิตใจเหมือน “แผลทางใจ” จนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักอาการของโรค PTSD ก่อน
ความสะเทือนขวัญ สะเทือนใจ จะมีอาการแสดงออกมา 2 ระยะ
ระยะที่ 1 เรียกว่า Acute Stress Disorder (ASD) คือ เกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ มีภาวะเครียดฉับพลัน ซึ่งสามารถหายเองได้
ระยะที่ 2 เรียกว่า Post-traumatic stress disorder (PTSD) คือ หลังผ่านเหตุการณ์มาแล้ว 1 เดือน มีความรู้สึกว่า
– เหตุการณ์นั้นตามมาหลอกมาหลอน (Re-experiencing) จะยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดซ้ำ
เช่น มีอาการฝันร้าย ตกใจกลัวหลับตาทีไรก็ยังเห็นภาพนั้นหรือฝันถึงเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ
– ร่างกายไม่ยอมเลิกตื่นตัว ทำให้มีอาการตื่นตัวมากเกินไป (hyperarousal) ยังรู้สึกกระวนกระวาย ใจสั่น ตกใจสะดุ้งง่าย ไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะเมื่อถูกสะกิดให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น จะยิ่งตื่นตระหนกมากขึ้นและข่มตานอนไม่ได้
– พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด หรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ ทำให้หวาดกลัว
– ภาวะอารมณ์เปลี่ยนไปในทางลบ เช่น ไม่ยินดียินร้าย ทำตัวเฉยชา ทำตัวห่างเหิน ไม่สามารถรับรู้ถึงภาวะด้านบวกได้
– มีภาวะซึมเศร้า โทษตัวเองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น
– นำไปสู่การเสพติดแอลกอฮอล์ โรคซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง
ดังนั้นหากตัวเองหรือบุคคลใกล้ตัวมีภาวะ PTSD นี้ ควรได้รับการเอาใจใส่และเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ให้เร็วที่สุด