Q&A แนวทางการใช้คาร์ชีท

สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายๆท่าน การพาลูกน้อยไปไหนมาไหนด้วย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เนื่องจากในประเทศไทยการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรพบมากเป็นอันดับสองรองจากการจมน้ำ และการให้เด็กนั่งตักและกอดไว้มีการศึกษามาแล้วว่าไม่ปลอดภัย เพราะหากรถชนหรือหยุดกะทันหัน จะทำให้เกิดการกระชากอย่างรุนแรงนำไปสู่อันตรายและอาจถึงขั้นสียชีวิตได้ จากการวิจัยพบว่าการติดตั้งคาร์ซีท (car seat) และเบาะนั่งเสริม  (booster seat) จะช่วยลดการบาดเจ็บได้ถึง 60% ดังนั้นวันนี้หมอจะมาแนะนำการติดตั้งคาร์ซีทหรือเบาะนั่งเสริมสำหรับเด็กที่ถูกต้องอ้างอิงจากสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา 2018 กันค่ะ

คำถามแรก : เมื่อไหร่จึงจะเริ่มใช้คาร์ซีท

คำตอบ : ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 13 ปี หรือสูงมากกว่า 145 เซนติเมตร โดยตำแหน่งที่เหมาะสม คือเบาะหลังรถยนต์

คำถามที่สอง : มีหลักการเลือกคาร์ซีทอย่างไร

คำตอบ : อายุและน้ำหนัก/ส่วนสูงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกคาร์ซีทและเบาะนั่งเสริมให้กับลูก โดยพิจารณาง่ายๆดังนี้เลยค่ะ

  • ข้อแรก : ทารกแรกเกิดถึงอายุ 4 ปี(น้ำหนักไม่เกิน 18 กิโลกรัม) ควรใช้คาร์ซีทสำหรับทารก( Infant carrier seat) หรือคาร์ซีทสำหรับเด็กเล็ก(Convertible seat) โดยติดที่เบาะหลัง หันหน้าเด็กไปด้านหลังรถ โดยคาร์ซีทชนิดนี้จะปกป้องศีรษะของเด็ก ลำคอ และกระดูกสันหลังได้ดีที่สุด ทั้งนี้ควรให้ลูกนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้(จนกว่าตัวลูกจะสูงหรือน้ำหนักเกินกว่าที่บริษัทคาร์ซีทกำหนด)
  • ข้อที่สอง : เด็กที่มีอายุ 4-8 ปีหรือน้ำหนักไม่เกิน 30-40 กิโลกรัม ควรใช้คาร์ซีทสำหรับเด็กเล็ก โดยติดที่เบาะหลัง หันหน้าไปด้านหน้ารถ โดยเบาะนั่งจะครอบคลุมเด็กทั้งศีรษะและตัว มีเข็มขัดนิรภัยแบบ 5 จุด(Harness)
  • ข้อที่สาม : เด็กที่มีอายุ 8-13 ปี หรือน้ำหนักมากกว่า 30-40 กิโลกรัมหรือส่วนสูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตร ควรใช้เบาะนั่งเสริม (Booster seats) โดยติดที่เบาะหลัง เนื่องจากตัวเบาะจะช่วยรองให้เด็กอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการคาดเข็มขัดนิรภัยรถยนต์

คำถามที่สาม : เมื่อไหร่จึงควรเลิกใช้คาร์ซีท

คำตอบ : สามารถเลิกใช้เบาะนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยเหมือนผู้ใหญ่ได้เมื่อลูกทำได้ทุกข้อดังต่อไปนี้

  • ลูกนั่งหลังพิงพนักได้แล้ว
  • ลูกงอเข่าได้พ้นขอบเบาะแล้ว
  • สายเข็มขัดที่พาดทะแยงหน้าอก พาดอยู่กลางบ่าพอดี ไม่พาดใกล้คอหรือใกล้แขน
  • สายเข็มขัดด้านล่างพาดบริเวณต้นขาและสะโพกได้พอดี
  • ลูกสามารถนั่งท่านี้ได้สบายตลอดการเดินทาง

ถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่คงพอทราบวิธีเลือกคาร์ซีทและเบาะนั่งเสริมให้ลูกน้อยแล้ว แต่โดยปกติแล้วลูกๆมักชอบนั่งตักคุณพ่อคุณแม่เพื่อดูวิวรอบๆมากกว่าถูกยึดไว้ในที่นั่ง จึงอาจทำให้ต่อต้านไม่ยอมนั่งคาร์ซีทได้ ดังนั้นเพื่อลดปัญหาหมอขอแนะนำเทคนิคดังนี้ค่ะ

  • ควรเริ่มใช้คาร์ซีทให้เร็วที่สุด โดยเริ่มได้ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลหลังคลอด เพื่อความเคยชิน
  • พ่อแม่ทำเป็นตัวอย่างทุกครั้ง
  • หากิจกรรมให้ทำระหว่างเดินทาง

อย่างไรก็ตามหากลูกน้อยร้องไห้ งอแงหรือโวยวาย อยากให้อุ้มขึ้นมา อาจจะหาตัวช่วยที่เป็นของเล่นหลอกล่อ หรือนั่งข้างๆเป็นเพื่อนลูกได้ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีร้องเพลง พูดคุยหรือสิ่งที่ลูกชอบแล้วแต่เทคนิคของแต่ละครอบครัว  นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความอดทนซักระยะ เพื่อให้ลูกค่อยๆเรียนรู้ว่าการโวยวายไม่ช่วยให้ได้ออกมาจากที่นั่ง การยอมอุ้มออกมาเป็นบางครั้งอาจทำให้ลูกน้อยสับสนและพยายามโวยวายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในครั้งถัดไปหากไม่ยอมอุ้มออกมาได้

 

Scroll to Top