มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงไทย พบมากในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี แต่ปัจจุบันพบในผู้หญิงอายุน้อยลง อัตราการเกิดโรคของทั่วโลกพบผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน ในผู้หญิง 8 คน ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่ มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมในครอบครัว น้ำหนักตัวมาก การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเคยมีประวัติตรวจพบก้อนที่เต้านมมาก่อน
หลักการรักษา
- การผ่าตัด
- ใช้ในกรณีเพื่อการหายขาดของโรคในผู้ป่วยระยะไม่มีการลุกลาม
- อาจใช้ในกรณีที่มีการลุกลามของโรคเช่น มะเร็งกระจายในกระดูก อาจต้องผ่าตัดเพื่อยึดตรึงกระดูก และลดความทุกพลภาค
- เคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน รวมทั้งยาพุ่งเป้า
- ใช้ในกรณีหวังหายขาด โดยพิจารณาตามระยะของโรค และข้อบ่งชี้ต่างๆ
- ใช้ในกรณีที่มีการลุกลามของโรคไปยังอวัยวะอื่น เช่น ปอด ตับ ถึงแม้ผู้ป่วยไม่สามมารถหายขาดจากโรค แต่สามารถลดอาการต่างๆ และ เพิ่มคุณภาพชีวิตได้
- รังสีรักษา
- เพื่อการหายขาด โดยมักจะฉายรังสีหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกัน การกลับมาของโรค
- ในระยะลุกลามรังสีมีบทบาทช่วยลดความเจ็บปวด ความเสียหายของอวัยวะที่ลุกลามได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะสุดท้ายของผู้ป่วย
การฉายรังสี
การฉายรังสีตามหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ สามารถช่วยลดการกลับเป็นซ้ำของตัวโรคเฉพาะที่ และช่วยลดอัตราการตายที่เกิดจากมะเร็งเต้านมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยทั่วไป ฉายรังสีตามหลังการผ่าตัด 20-30 ครั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ ติดต่อกัน ดังนั้นญาติและผู้ป่วยต้องเข้าใจและมีเวลาที่จะทำการฉายแสงต่อเนื่อง
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีบริเวณทรวงอกหรือเต้านม
- สีผิวอาจมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป สีแดงหรือคล้ำมากขึ้น อาจมีผิวหนังแห้งหรือคันร่วมด้วย บางครั้งผิวแตกได้ โดยผลข้างเคียงที่ผิวหนังจะเห็นชัดมากสุดหลังฉายรังสี และครบไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการต่างๆจะลดน้อยลง
- อาจมีอาการปวด บวม อาการเจ็บ หรืออาการหนักๆบริเวณเต้านม ความรู้สึกไหล่ติด
- อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ผลข้างเคียงระยะยาว เกิดได้ภายหลังจากการฉายรังสีครบไปแล้ว ตั้งแต่ 6 เดือนไปจนถึงหลายปี คือพังผืดที่บริเวณแผลผ่าตัด การอักเสบหรือพังผืดที่ปอดที่จากการฉายรังสี
การตรวจติดตามระหว่างฉายรังสี/หลังฉายรังสี
การตรวจติดตามผู้ป่วยทุกสัปดาห์ เพื่อดูผลข้างเคียงจากการรักษา โดยเฉพาะบริเวณผิวหนัง และหลังฉายรังสีครบ ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น มีแผลแตก แผลเปื่อย หรือมีเลือดออกบริเวณที่ทำการฉายรังสี รวมไปถึงการมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์ที่ทำการรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด! แต่หากไม่สะดวกก็สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น
การดูแลตนเองขณะฉายรังสี
- เพื่อป้องกันการอักเสบของผิว บริเวณฉายรังสี ให้งดใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาทุกชนิดบริเวณที่ฉายรังสี และควรใส่เสื้อผ้าที่โปร่ง ไม่อับชื้นง่าย
- ละเว้นการทาครีมในช่วงระหว่างการฉายรังสี ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่มีผิวแห้งมาก สามารถปรึกษาแพทย์ในการใช้ครีมบำรุงผิว ระวังการออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกและเส้นที่ขีดไว้จางได้
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
ปรึกษาแพทย์ พยาบาล ทีมรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติ