นอนกัดฟันอันตรายที่ท่านอาจไม่รู้

นอนกัดฟันอันตรายที่ท่านอาจไม่รู้

นอนกัดฟันเป็นความผิดปกติ

เกิดขึ้นขณะหลับ โดยมีลักษณะขบเน้นฟันแน่นๆ หรือฟันบนล่างบดถูไถซ้ำๆกัน ในคืนหนึ่งๆผู้ที่มีอาการอาจมีอาการดังกล่าวมากกว่า 80-100 ครั้ง คนนอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเองคล้ายกับคนที่นอนกรนซึ่งมักไม่รู้ตัวเองเช่นกัน

การนอนกัดฟันที่มีลักษณะขบฟันแน่นๆ มักไม่มีเสียงดังทำให้ไม่มีผู้ใดได้ยิน คนที่นอนกัดฟันแบบนี้จึงมักไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนนอนกัดฟัน“ดังนั้นการนอนกัดฟันจึงเป็นภัยเงียบที่ท่านอาจไม่รู้ตัว”

การนอนกัดฟันวินิจฉัยยากเนื่องจากเกิดเป็นช่วงสั้นๆ อาจไม่มีเสียงดัง และคนนอนหลับมักไม่รู้ตัว การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือ การตรวจการนอน (Sleep test) ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อวัดการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในขณะหลับนอน หรืออาจใส่แผ่นบรั๊กเชคเกอร์ขณะนอนหลับ วิธีอื่นๆ คือ การสังเกตอาการที่เป็นผลของการนอนกัดฟัน เช่น หลังตื่นนอนมีอาการเมื่อยตึงที่ขมับใบหน้าหรือต้นคอ หรือตึง ชาที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหลายซี่ หรือเสียวฟันหลายซี่ หรือบางครั้งรู้สึกตัวเองตื่นสลึมสลือเหมือนกำลังกัดฟัน หรือสังเกตว่าฟันบิ่นแตก หรือแก้มกางใหญ่ขึ้นเพราะกล้ามเนื้อแก้มขยายใหญ่ หรือมีปุ่มกระดูกในปากใหญ่ หรือทันตแพทย์ตรวจพบว่าท่านมีฟันสึกมากจนผิดปกติ “อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าท่านอาจนอนกัดฟัน”

ผลเสียของการนอนกัดฟัน
  1. มีฟันสึก ทำให้ฟันสั้นลง ฟันบาง ฟันสึกเป็นร่อง มีอาการเสียวฟัน ทิ้งไว้นานฟันยิ่งสึกมากจะมีปัญหาเรื่องความสวยงามตามมา ทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยรักษารูปหน้าด้วย
  2. ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว ฟันสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากเพื่อรักษาฟัน
  3. ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้ เพราะอาการปวดส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและอารมณ์จิตใจ
  4. กระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน บางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม
  5. ทำให้ความสำคัญของคู่สามีภรรยาแย่ลง เนื่องจากเสียงดังที่เกิดจากการนอนกัดฟันจะรบกวนคนที่นอนด้วย
การนอนกัดฟันรักษาได้อย่างไร

                เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการนอนกัดฟัน ดังนั้นการรักษาเพื่อหยุดการนอนกัดฟันยังไม่ได้ผลเต็มร้อย ควรควบคุมตัวกระตุ้นที่ทำให้นอนกัดฟัน เช่น ความเครียด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด หรือยาที่ใช้รักษาโรคบางตัว เป็นต้น นอนกัดฟันที่เกิดร่วมกับนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ ควรรักษาเรื่องนอนกรนและภาวะหยุดหายใจด้วย จะช่วยลดภาวะนอนกัดฟันดีขึ้น

การรักษาการนอนกัดฟัน มีดังนี้
  1. งดเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ และมื้ออาหารหนักก่อนนอน ห้องนอนควรเงียบสงบ สะอาด ไม่ควรมีแสงสว่างมากเกินไป ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนเข้านอน
  2. ใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal splint) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก
  3. ใส่ทันตอุปกรณ์ช่วยยื่นขากรรไกรล่าง (Mandible Advancement Device) รักษานอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับฯ ร่วมกับนอนกัดฟัน
  4. การใช้ยาที่มีผลไปปรับการนอนเพื่อช่วยลดการนอนกัดฟัน