วิตามินดี (vitamin D) มีมากแต่ขาดง่าย
วิตามินดี (vitamin D) มีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยในการดูดซึมแคลเซียม มีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างกระดูก บำรุงกล้ามเนื้อ ปอด สมอง หัวใจ ระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนไทยขาดวิตามินดี ทั้ง ๆ ที่ร่างกายของเราสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากผิวหนังเมื่อโดนแสงแดด โดยสาเหตุอาจมาจากสภาพอากาศ รวมไปถึงการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่แต่ในห้องหรืออาคาร และออกมาสัมผัสแสงแดดลดลง การขาดวิตามินดีนอกจากจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรงแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ อีกด้วย
ทำไมร่างกายต้องการวิตามินดี
วิตามินดี (vitamin D) มีหน้าที่หลักช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหาร และรักษาระดับแร่ธาตุดังกล่าวในเลือดให้เป็นปกติ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ป้องกัน โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์อันเป็นสาเหตุให้เกิดการสลายกระดูก รวมทั้งยังมีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิป้องกันเชื้อโรคและกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้าสู่ร่างกาย ทั้งเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส
หากร่างกายขาดวิตามินดี จะส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหารลดลง มวลกระดูกลดลง อาจเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาวะขาดวิตามินดีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ โรคกระดูกอ่อนในเด็ก และโรคกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ เป็นต้น รวมไปถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการติดเชื้อได้
ปัจจัยและกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสขาดวิตามินดี
- การได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ทั้งจากการหลีกเลี่ยงการออกแดด และจากการใช้ครีมกันแดดที่มีสารเอสพีเอฟ (SPF) ที่มีผลทำให้ลดการดูดซึมแสงแดดสู่ผิวหนัง
- ฝุ่น ควัน มลภาวะทางอากาศทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดมาถึงผิวหนังได้น้อยลง ทำให้กระบวนการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกายลดลงไป
- การได้รับวิตามินดีจากอาหารไม่เพียงพอ โดยอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเทราต์ ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล รวมไปถึง นม หรือ ซีเรียล เป็นต้น
- ผู้สูงอายุจะมีกลไกการสังเคราะห์วิตามินต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลงตามธรรมชาติ ประกอบกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกแดดน้อยลง จึงมีโอกาสขาดวิตามินดี
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือมีไขมันสะสม มักเป็นผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะการขาด หรือ พร่องวิตามินดี
- สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่มีสีผิวคล้ำ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังผลิตวิตามินดีลดลง
- ผู้ที่มีโรคระบบลำไส้ มีปัญหาเรื่องการดูดซึมไขมัน
- ผู้ที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ทำให้การดูดซึมวิตามินลดลง
- ผู้ที่มีโรคไตเรื้อรัง ระยะ 3 และ 4
ปริมาณวิตามินดีที่คนไทยควรได้รับประจำวัน
คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย กำหนดปริมาณวิตามินดีที่คนไทยวัยต่างๆ ควรได้รับประจำวัน ได้แก่
- อายุต่ำกว่า 12 เดือน ควรได้รับวิตามินดีวันละ 400 IU (10 ไมโครกรัม)
- อายุต่ำกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 600 IU (15 ไมโครกรัม)
- อายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 800 IU (20 ไมโครกรัม)
- ผู้หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรได้รับวิตามินดี วันละ 400-600 IU (10 ไมโครกรัม)
- สตรีตั้งครรภ์ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ควรได้รับวิตามินดี วันละ 2,000-4,000 IU (50-100 ไมโครกรัม)
จะทราบได้อย่างไรว่าขาดวิตามินดี
เนื่องจากอาการที่บ่งบอกว่าขาดวิตามินดี ค่อนข้างไม่เฉพาะเจาะจง บางรายอาจแค่มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ปวดกระดูก ปวดเมื่อยไม่ทราบสาเหตุ ผมร่วง ป่วยง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือไม่แสดงอาการ ดังนั้นการวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินดี ที่ดีที่สุดคือ การเจาะเลือดตรวจวัดระดับไฮดรอกซีวิตามินดี 25(OH)D ในร่างกายโดยสามารถเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับวิตามินดีได้จากการตรวจสุขภาพประจำปีได้ แบ่งเป็น 3 ระดับดังนี้
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D น้อยกว่า 20 ng/mL ถือว่ามีภาวะขาดวิตามินดี
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D อยู่ในช่วง 20-30 ng/mL ถือว่ามีภาวะพร่องวิตามินดี
- ระดับวิตามินดีในเลือด 25(OH)D มากกว่า 30 ng/mL ถือว่ามีระดับวิตามินดีพอเพียง
ผู้ที่มีภาวะขาดหรือพร่องวิตามินดีควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- สัมผัสแสงแดดให้มากขึ้น โดยสามารถทำกิจกรรมที่ได้รับแสงแดด อย่างน้อย 15 นาที จำนวน 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ในช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจนเกินไป เช่น เวลาเช้า 6.00 – 8.00 น. หรือช่วงเย็น 16.00 -18.00 น. ซึ่งแสงแดดจะช่วยเปลี่ยนคอเลสเตอรอลในร่างกายไปเป็นวิตามินดี
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา ตับ ไข่แดง เห็ด ปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาทูน่า แมคเคอเรลแซลมอน เป็นต้น
- การรับประทานวิตามินดีเสริม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้เลือกใช้วิตามินดีเสริม โดยประเภทของวิตามินดีจะขึ้นอยู่กับสภาวะและความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
- เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดีในร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตามการมีวิตามินดีในระดับที่เพียงพอต่อสุขภาพร่างกายต้องการ นอกจากจะช่วยเรื่องความแข็งแรงของสุขภาพกระดูกแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสามารถป้องกันผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อนรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้