โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะเป็นๆหายๆ โดยมีพยาธิสภาพอยู่ที่หูชั้นใน โดยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ โรคนี้พบได้ในคนอายุ 30 – 70 ปี (พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก) และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายในอัตราส่วน 1.5-2 : 1 และมักพบในคนสูงอายุ (อายุ > 60 ปี) โรคนี้สามารถเกิดในหูทั้งสองข้างได้ประมาณร้อยละ 15 และอาจพบร่วมกับโรคไมเกรนได้
สาเหตุ
ปกติ ภายในหูชั้นใน (labyrinth) ของมนุษย์ มีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว (utricle, saccule, semicircular canal) และการได้ยิน (cochlea) ในอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว utricleมีตะกอนหินปูน (otoconia) ที่รับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ หากตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุด ไปอยู่ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวอีกชนิดหนึ่งคือ semicircular canal เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะ ตะกอนหินปูนดังกล่าวที่เคลื่อนที่ไปมา (canalithiasis) จะส่งสัญญาณกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมาได้ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือในผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี คือ อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ, โรคของหูชั้นใน, การผ่าตัดหูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน, การติดเชื้อ, หลังผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนนานๆ, การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำความสะอาด หรือเช็ดฝุ่นที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคนี้ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี คือ ความเสื่อมของอวัยวะควบคุมการทรงตัวในหูชั้นในตามอายุ อย่างไรก็ตาม ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ไม่ทราบสาเหตุ
อาการ
ผู้ป่วย มักมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะโดยเฉพาะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ หรือเงยหน้ามองที่สูง ก้มหน้ามองที่ต่ำ เอียงคอ ซึ่งท่าเหล่านี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน มักเป็นวินาที หรือนาที หลังมีการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะอาจจะมีตากระตุก ทำให้มอง หรืออ่านไม่ชัด ขณะมีอาการ แต่ตามักจะกระตุกอยู่นาน 30 วินาทีถึง 1 นาทีเท่านั้น และอาการเวียนศีรษะดังกล่าว จะค่อยๆหายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะได้หลายครั้ง เป็นๆหายๆใน 1 วัน และอาจมีอาการเวียนอยู่ได้เป็นวันหรือสัปดาห์ แล้วจะค่อยๆดีขึ้นได้เองในเวลาเป็นวัน หรือสัปดาห์ หรือเดือน หลังจากหายแล้วผู้ป่วยบางรายอาจกลับเป็นซ้ำได้อีก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มักไม่มีอาการหูอื้อ หรือ เสียงดังในหูร่วมด้วย ไม่มีแขนขาชา อ่อนแรง หรือ พูดไม่ชัด ไม่มีอาการหมดสติ หรือเป็นลม ยกเว้นจะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย บางภาวะ อาจกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นได้ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ เช่น ฝนตก, หิมะตก, มีพายุ, ลมแรง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและความเครียด