Post Views: 276
โรคตาเข ตาเหล่ในเด็ก (Strabismus)
เป็นภาวะหรือโรคที่พบได้ในเด็กและผู้ใหญ่ได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ตาไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ ตาทั้งสองข้างไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน จากการมีภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้ง 2 ข้าง ขาดการประสานงานกันที่ดี
การแบ่งชนิดของตาเข
สามารถแบ่งได้ 3 แบบ ดังนี้
- แบ่งตามความสามารถในการมองสองตาพร้อมกัน
– ตาเขซ่อนเร้น จะไม่เห็นตาเขถ้ามองทั้งสองตาพร้อมกัน
– ตาเขเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดตาเขออก เวลามองใกล้ตาจะตรง จะเห็นเขออกเมื่อมองไกลหรือเวลาเหม่อ
– ตาเขถาวร เห็นเขตลอดเวลา
- แบ่งตามอายุการเกิด
– Congenital พบตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน
– Acquired ตาเขหลังอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- แบ่งตามรูปแบบการเข
– ตาเขเข้าหรือตาเขออก
– ตาลอยขึ้นและตาลอยต่ำ
– ตาหมุนเข้าในหรือตาหมุนออกนอก
สาเหตุ
- เกิดจากความผิดปกติของตัวกล้ามเนื้อตาเอง เช่น กล้ามเนื้อตาเป็นพังผืดตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งมักถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ autosomal dominant
- เกิดจากการเพ่งโดยอาศัยกลไกของเลนส์แก้วตา เพื่อให้เกิดภาพชัดในภาวะสายตายาว ยิ่งเพ่งมากจะยิ่งมีตาเขเข้ามากขึ้น อาจพบภาวะตาเขเข้าร่วมด้วยได้ ซึ่งการใส่แว่นสายตายาวจะช่วยแก้ไขให้ตาตรงได้
- เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทคู่ที่มาเลี้ยงดวงตาคู่ที่ 3 4 และ 6
- เกิดจากปัญหาทางสมองทำให้มีพัฒนาการช้า ส่งผลให้การควบคุมการกลอกตามีปัญหาตามไปด้วย จะพบอุบัติการณ์ตาเขเข้า หรือตาเขออกในเด็กกลุ่มนี้มากกว่าคนปกติ
- เกิดจากโรคอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคไทรอยด์ เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุ พบในตาเขเข้าตั้งแต่กำเนิด และตาเขออกเป็นครั้งคราว ทั้งสองแบบนี้บางราย อาจพบถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถหาสาเหตุการเกิดได้ชัดเจน
ลักษณะอาการ
อาการโดยรวมของโรคตาเข ตาเหล่ อาจจะสังเกตได้จากตำแหน่งดวงตาไม่ได้อยู่ตรงกลาง และผู้ป่วยอาจจะมีปัญหาการมองเห็นของภาพเป็นภาพซ้อน โดยที่ภาพ 1 ภาพปรากฏออกเป็น 2 ภาพ ซึ่งผู้ที่มีอาการดังกล่าว อาจลดการเกิดภาพซ้อนของตัวเองด้วยการเอียงหัวหรือเอียงหน้า
ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยโรคตาเขหรือตาเหล่ต้องได้รับการยืนยันจากจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ เบื้องต้นจะใช้การรวบรวมข้อมูลจากประวัติและการตรวจร่างกาย ประเมินการมองเห็น การกลอกตา และวัดมุมตาเขโดยอุปกรณ์ปริซึ่ม เพื่อหาขนาดมุมตาเหล่
การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรค
- ถ้าโรคตาเหล่หรือตาเขเกิดจากสาเหตุที่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ไทรอยด์ ก็จะทำการรักษาร่วมกับทีมกุมารแพทย์ หรืออายุรแพทย์
- หากเป็นตาเขที่เกิดจากค่าสายตายาว (Refractive accommodative esotropia) การสั่งแว่นสายตายาวที่เหมาะสมสามารถลดตาเขได้
- การปิดตา (patching) ทำเพื่อลดอาการภาพซ้อน หรือเพื่อการรักษาในกรณีมีตาขี้เกียจที่เกิดจากภาวะตาเขหรือเพื่อลดการเขออกเป็นบางครั้งในโรคตาเขออก เป็นต้น
- การผ่าตัด
ข้อบ่งชี้การผ่าตัด
- ในรายที่เป็นแต่กำเนิด เช่น ตาเขเข้าควรผ่าตัดให้ตาตรงก่อนอายุ 2 ปี พบว่ามีโอกาสที่จะมีการมองด้วยตาสองข้างพร้อมๆกัน การมองเห็นด้วยตาสองข้างพร้อมกันจะทำให้สามารถรักษาสภาพตาตรงหลังผ่าตัดได้ดีกว่า ในกรณีที่มีตาเขหลังอายุ 6 เดือน เช่น ตาเขออกเป็นครั้งคราว เมื่อผ่าตัดให้ตาตรงจะสามารถรักษาสภาวะการมองเห็นภาพ 3 มิติเหมือนคนปกติ เนื่องจากมีการพัฒนาการใช้ตาทั้งสองข้างพร้อมกันมาก่อนหน้านั้นแล้ว ในกรณีที่มีภาพซ้อนเกิดขึ้นจากการมีตาเขหลังอายุ 8 ปีที่การมองเห็นมีการพัฒนาเต็มที่ไปแล้วนั้น เราสามารถผ่าตัดให้ตาตรงเพื่อแก้ไขการมีภาพซ้อนได้
- เพื่อความสวยงาม เป็นการผ่าตัดเพื่อให้ดูสวยงามขึ้น ไม่ได้ทำให้การมองเห็นดีขึ้น และไม่สามารถทำให้ ใช้ตาทั้งสองข้างพร้อมกันได้อีก ผู้ป่วยจะมองเห็นข้างเดียวหรือสลับตากันมอง
การผ่าตัด
- Recession คือการทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงลง ด้วยการร่นจุดเกาะไปด้านหลังต่อจากจุดเกาะเดิม
- Resection คือการตัดกล้ามเนื้อตาบางส่วนออกแล้วให้เกาะอยู่ที่เดิม กล้ามเนื้อตามัดนั้นจะแข็งแรงขึ้น มักนิยมทำ recession มากกว่า resection เนื่องจากทำได้ง่ายกว่าและไม่ต้องไปตัดทอนกล้ามเนื้อตาบางส่วนออก