กลุ่มอาการครูป (Croup)
กลุ่มอาการครูป (Croup) หรือภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (Laryngotracheobronchitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสที่เป็นสาเหตุและพบบ่อยที่สุด คือ Parainfluenza viruses การติดเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้เกิดอาการ ทางเดินหายใจอุดกั้นเฉียบพลัน พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก
อาการ
มักเริ่มจากอาการคล้ายเป็นหวัด โดยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีไข้ หลังจากนั้น 1-3 วัน การอักเสบติดเชื้อจะลุกลามลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลม ทำให้เกิดการบวมและการอุดกั้นของทางเดินหายใจ จึงมีอาการหายใจลำบาก หายใจเสียงดัง ไอแบบมีเสียงก้อง โดยถ้าเป็นมากๆจะมีเสียงไอคล้ายเสียงสุนัขเห่า เสียงแหบ หายใจเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงจะพบอาการอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น หายใจจมูกบาน กล้ามเนื้อหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน และฟังปอดพบเสียงการหายใจที่ผิดปกติได้
ความรุนแรงสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ โดยอาศัยเกณฑ์ภาวะหายใจลำบาก, สีผิว(ระดับออกซิเจนในเลือด), การไอ, ภาวะความรู้สึกตัวและเสียงลมผ่านเข้าไปในปอด
- ความรุนแรงน้อย (mild croup) เด็กสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และยังมีความสนใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม อาการแสดงมีเพียงไอเสียงก้องบางครั้ง ไม่มีเสียง stridor ขณะพัก หายใจไม่มีอกบุ๋ม
- ความรุนแรงปานกลาง (moderate croup) เด็กมีอาการไอเสียงก้องเกือบตลอดเวลา ขณะพักหายใจ มีเสียง stridor หายใจอกบุ๋ม ไม่มีอาการกระสับกระส่าย
- ความรุนแรงมาก (severe croup) เด็กมีอาการไอเสียงก้อง ขณะพักมีเสียง stridor หายใจอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ระดับความรู้สึกตัวลดลง อ่อนเพลีย ไม่สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อม
หากพบว่ามีอาการติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
- หายใจเข้าหรือออกมีเสียงดังหรือเสียงสูง
- หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจลำบาก
- เริ่มมีน้ำลายไหลหรือกลืนลำบาก
- ดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ ไม่มีแรง กระวนกระวาย
- จมูก ปาก หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือม่วงจากภาวะหายใจลำบาก
- อาการคล้ายภาวะขาดน้ำ เช่น ลิ้นหรือปากแห้ง ไม่ปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) โดยเด็กอาจติดเชื้อจากการหายใจสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป หรือจากการสัมผัสกับของเล่นเด็กและพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ
นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคภูมิแพ้ การหายใจเอาสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองเข้าไป ภาวะกรดไหลย้อน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น สังเกตอาการจากการหายใจของเด็ก และอาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- สังเกตการหายใจและฟังเสียงบริเวณหน้าอกด้วยหูฟังว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น หายใจเข้าและออกได้ลำบากกว่าปกติ หายใจมีเสียง หรือเสียงหายใจเบาลง เป็นต้น
- ตรวจภายในลำคอ เพื่อตรวจสอบอาการบวมแดงของฝาปิดกล่องเสียง
- เอกซเรย์บริเวณคอ เพื่อตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมหรือการตีบแคบของหลอดลม
การรักษา
การรักษากลุ่มอาการ Croup ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยจะแบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มอาการความรุนแรงน้อย : แพทย์จะให้การรักษาตามอาการโดยให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม ให้ดื่มน้ำมากๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถให้การรักษาตามอาการที่บ้านได้ โดยการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง
- กลุ่มอาการความรุนแรงปานกลาง : แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้สารน้ำทางเส้นเลือด ฉีดยา และพ่นยาเพื่อลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
- กลุ่มอาการความรุนแรงมาก : รีบรักษาโดยการให้ออกซิเจน และพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจร่วมด้วยหากอาการไม่ดีขึ้น
การป้องกัน
ทำได้ด้วยการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งการป้องกันในเบื้องต้นจะคล้ายกับการป้องกันหวัดหรือไข้หวัด ดังนี้
- ใช้ทิชชู่ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที รวมถึงล้างมือให้สะอาด
- ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากสามารถป้องกันเชื้อบางชนิดที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการ Croup ได้
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในชุมชนแออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้หวัดระบาด
- ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นหวัด ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด/สัมผัสเด็ก ควรใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่ออยู่ใกล้เด็ก
- รักษาความสะอาดภายในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์ ของเล่น และข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ให้สะอาดเสมอ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ