การดูแลเมื่อเริ่มตั้งครรภ์

การดูแลเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ (First trimester care)

 

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อใด

     เมื่อประจำเดือนมาไม่ตรงตามกำหนด หรือ ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันที หรืออย่างน้อยในช่วงก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เนื่องจากการตรวจและการดูแลบางอย่าง รวมทั้งวิตามินเสริมที่จำเป็น จะได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อหญิงตั้งครรภ์มาพบแพทย์ในช่วง3เดือนแรกเท่านั้น

เมื่อฝากครรภ์จะมีการตรวจอะไรบ้าง

 

อัลตราซาวด์

  • เพื่อดูว่า เป็นการตั้งครรภ์ในมดลูก และตัวอ่อนในครรภ์มีการเต้นของหัวใจหรือไม่
  • เพื่อคำนาณอายุครรภ์และกำหนดคลอด
  • เพื่อดูความผิดปกติที่มดลูกและรังไข่ เช่น เนื้องอกของกล้ามเนื้อมดลูก หรือถุงน้ำที่รังไข่

การเจาะเลือด เพื่อเป็นการคัดกรองโรคต่างๆ ที่อาจมีผลต่อทั้งมารดาที่ตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ได้

  • ความเข้มข้นเลือด (CBC) ภาวะเลือดจางธาลัสซีเมีย (Hb typing)
  • หมู่เลือด ทั้ง ABO group และ Rh group
  • เอชไอวี (anti HIV) ซิฟิลิส (VDRL) และตับอักเสบบี (HBs Ag)
  • ตรวจดูการติดเชื้อหัดเยอรมัน (Rubella IgG) และภูมิคุ้มกัน
  • ตรวจปัสสาวะ ดูการติดเชื้อ โปรตีนและกลูโคสในปัสสาวะ (UA)

การตรวจเลือดเพิ่มเติม

การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารก โดยการตรวจเลือดมารดาดูสารชีวเคมี สามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 15 สัปดาห์ขึ้นไปโดยสามารถตรวจคัดกรองได้ 80% โดยมีผลบวกลวง 5%

การตรวจดีเอ็นเอของทารกในเลือดแม่ (non-invasive prenatal testing) วิธีนี้สามารถตรวจคัดกรองดาวน์ได้สูงถึง 99% โดยมีผลบวกลวงน้อยกว่า 1% สามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และจะทราบผลภายใน 2-4 สัปดาห์หลังตรวจเลือด

ประวัติที่ควรแจ้งแพทย์เมื่อไปฝากครรภ์

  • โรคทางอายุรกรรมต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ไทรอยด์เป็นพิษ
  • โรคทางนรีเวช โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ประวัติการผ่าตัดในช่องท้อง
  • ประวัติการคลอด การแท้ง การตั้งครรภ์ในอดีต
  • ประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆในช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์

การเปลี่ยนแปลงในมารดาเมื่อเริ่มตั้งครรภ์

  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย ง่วงนอน
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ปวดหน่วงท้องน้อย     
  • ท้องอืด
  • น้ำหนักในช่วง3เดือนแรก ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม

อาการผิดปกติที่ควรต้องไปพบแพทย์

  • ปวดท้องมาก
  • คลื่นไส้อาเจียนมาก กินไม่ได้
  • เลือดออกทางช่องคลอด

วิตามิน โฟลิค (folic acid) ควรเริ่มกินโฟลิค ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์สามเดือน จนกระทั่งอายุครรภ์สามเดือนแรกเนื่องจาก ป้องกันโรคปลายประสาทไม่ปิดในทารก (neural tube defect)


Scroll to Top