การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คือ การเอกซเรย์เต้านมซึ่งใช้ปริมาณรังสีขนาดต่ำ ทำให้เห็นภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
- การตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ (Screening)
- การตรวจในผู้ที่มีอาการ (Diagnosis) เช่น ในรายที่คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังบริเวณเต้านม
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) ควรตรวจเมื่อใด
การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง ซึ่งแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ควรตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงในรายที่มีความผิดปกติที่เต้านม เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม เจ็บเต้านม ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะผิดปกติ มีของเหลวไหลออกจากหัวนม เพราะการตรวจแมมโมแกรมนั้นจะช่วยในการวินิจฉัยว่า ความผิดปกตินั้นมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือไม่มากน้อยเพียงใด และการตรวจแมมโมแกรมยังสามารถใช้เพื่อติดตามการรักษาในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้ด้วย
กลุ่มใดบ้างที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
- ผู้หญิงที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม (มารดา, พี่สาว, น้องสาว, บุตรสาว)
- ผู้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก
- ผู้ที่รับยาฮอร์โมนอย่างเป็นประจำ
- ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง
- ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพบภาวะที่เรียกว่า Atypical ductal hyperplasia หรือภาวะที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่ท่อน้ำนม
ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
- สามารถตรวจพบเนื้องอกหรือความผิดปกติที่มีขนาดเล็กได้
- สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกที่ยังไม่เกิดการแพร่กระจายได้
- ไม่มีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วย
- ไม่มีผลข้างเคียงจากการตรวจ
ข้อห้ามในการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากการตรวจแมมโมแกรม เนื่องจากขั้นตอนการตรวจที่ทำให้ร่างกายได้รับรังสี แม้ว่าระดับรังสีจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีโอกาสกระทบต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ จึงควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
ขณะที่มีประจำเดือนอยู่ สามารถทำแมมโมแกรมได้หรือไม่
พบว่าในระยะของการมีประจำเดือน ไม่มีผลต่อภาพที่ได้จากการทำแมมโมแกรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนอยู่เต้านมจะมีการคัดตึงตามธรรมชาติ ทำให้เจ็บเวลากดเต้านมขณะที่ทำแมมโมแกรม และช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจ คือ 7-14 วันหลังมีประจำเดือน
ผลข้างเคียงของการตรวจแมมโมแกรม
ผู้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยหรืออึดอัดเมื่อเครื่องค่อย ๆ กดเนื้อเต้านมขณะมีการเอกซเรย์ หากรู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถทนได้ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ฉายรังสีให้ช่วยปรับระดับการกดของเครื่องในระดับเท่าที่ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทนได้ การตรวจแมมโมแกรมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง จากการได้รับรังสีในการตรวจเอกซเรย์บริเวณเต้านมแม้ว่าจะเป็นปริมาณรังสีที่น้อยก็ตาม โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจเกิดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีสูงกว่าผู้ที่มีอายุมาก
ข้อจำกัดของการตรวจแมมโมแกรม
การตรวจแมมโมแกรมสำหรับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจเกิดผลคาดเคลื่อนได้สูง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของผู้หญิงอายุน้อยมักจะมีความหนาแน่นมากกว่าผู้หญิงอายุมาก จนทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังเนื้อมะเร็งหรือมองเห็นผิดพลาดจากเนื้อดีกลายเป็นมะเร็งได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้มีการตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวด์ทดแทนหรือทำควบคู่กับแมมโมแกรม เพื่อให้ชัดเจนขึ้น
ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram)
การตรวจแมมโมแกรม สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ซึ่งวิธีการตรวจนั้น จะให้ผู้ป่วยอยู่ในท่ายืนหันหน้าเข้าหาเครื่อง และทางเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่า เพื่อวางเต้านมทีละข้างลงบนเครื่องตรวจ ซึ่งเครื่องจะค่อย ๆ กดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อเต้านมแผ่ออก ทำให้โอกาสตรวจพบสิ่งผิดปกติจะสูงขึ้น แต่ในรายที่ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ เนื่องจากรังสีเอกซเรย์อาจส่งผลกระทบเป็นอันตราต่อทารกในครรภ์ได้
ผลหลังการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
การอ่านผลตรวจแมมโมแกรมสามารถทำได้โดยรังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้สั่งตรวจ ผลของการตรวจแมมโมแกรมตามมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันเรียกย่อ ๆ ว่า ไบแรดส์ (Breast Imaging Reporting And Database System: BIRADS) ค่าที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขที่แสดงความรุนแรงตามการตรวจพบ แพทย์อาจมีคำแนะนำให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจว่าควรปฏิบัติอย่างไร ในขั้นตอนต่อไปหากพบว่ามีโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนี้
- ค่าไบแรดส์เป็น 0 หมายถึง ไม่สามารถแปลผลได้ ต้องมีการประเมินผลจากการถ่ายภาพเพิ่มเติม ควรมีการตรวจแมมโมแกรมซ้ำ
- ค่าไบแรดส์เป็น 1 หมายถึง ไม่พบสิ่งปกติ แต่ควรมีการตรวจประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ค่าไบแรดส์เป็น 2 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง ควรมีการตรวจประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ค่าไบแรดส์เป็น 3 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง ควรมีการตรวจทุก 6 เดือน เพื่อติดตามผล
- ค่าไบแรดส์เป็น 4 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็ง อาจมีการสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
- ค่าไบแรดส์เป็น 5 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็งได้สูง แพทย์สั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบในเต้านมเป็นมะเร็ง
- ค่าไบแรดส์เป็น 6 หมายถึง ก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกตินั้นได้รับการตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปตามแต่ละสถานการณ์ของบุคคลนั้น