Post Views: 286
การตรวจคัดกรองสุขภาพตาสำคัญอย่างไร
ตามีหน้าที่ช่วยในการมองเห็น ซึ่งเป็นการรับรู้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ นอกจากนี้ตายังเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง โดยอาจเสื่อมหรือบกพร่องจากเหตุปัจจัยต่าง ๆได้ ไม่ว่าจะเป็นจากการใช้สายตาจ้องมองหน้าจอโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ อ่านหนังสือ รวมถึงสัมผัสฝุ่น ควัน แสงแดด สารเคมี และอื่นๆ เมื่อมีอายุมากขึ้น ดวงตาและการมองเห็นจะเริ่มมีการเสื่อมลง ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง ส่งผลกระทบต่อทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมได้
ดังนั้น การตรวจสุขภาพตาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากช่วยค้นหาปัญหาทางการมองเห็นและโรคทางตาในระยะเริ่มต้น ทำให้รู้ทันโรคของตา ลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นทั้งชั่วคราวและถาวรได้
ใครบ้างที่ควรตรวจสุขภาพตา
- บุคคลที่มีอาการผิดปกติของดวงตาอย่างชัดเจน เช่น เจ็บหรือปวดตา ตาแดง แสบตา น้ำตาไหลมาก ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน มองเห็นแสงวาบ เห็นจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ เห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม มีก้อนผิดปกติบริเวณดวงตา เป็นต้น
- บุคคลที่มีสายตาผิดปกติ ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางตาบางชนิดสูงกว่าคนปกติ เช่น โรคจอประสาทตาหลุดลอก ฯลฯ
- บุคคลทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุกๆ 2 – 3 ปี และบุคคลที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สายตาจะเริ่มเสื่อมลง ประสิทธิภาพการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เพื่อเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น สายตายาวตามอายุ ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น
- บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางตา ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคต่อมธัยรอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นต้น
- ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม
- ผู้ที่ได้รับยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงต่อตา เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาวัณโรคบางชนิด ยารักษาโรคข้อ ยารักษาโรคภูมิแพ้ตัวเอง ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
- อื่นๆ ได้แก่ ผู้ที่ทำงานที่ใช้สายตามาก ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ผู้ที่มีประวัติโรคทางตา (เช่น จอประสาทตาลอก อุบัติเหตุเกี่ยวกับตาหรือการสูญเสียการมองเห็นในตาข้างหนึ่งหรือสองข้าง)
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพตา
- การที่สายตามีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ ทำให้การมองเห็นไม่ดีเท่าที่ควร หากตรวจพบและรับการแก้ไขจะทำให้การมองเห็นดีขึ้นเป็นปกติ
- การตรวจพบโรคตาตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ช่วยชะลอความรุนแรงและผลข้างเคียงของโรคลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การตรวจตาอาจช่วยให้พบโรคทางกายได้ เช่น การตรวจพบวงขาว ๆ เป็นขอบรอบตาดำ อาจบ่งถึงภาวะไขมันในเลือดสูง, การตรวจพบตาขาวมีสีเหลือง จะบ่งถึงการทำงานของตับที่ผิดปกติ เป็นต้น
- การตรวจตาในโรคทางกายบางอย่างสามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้
- ความผิดปกติของสมองบางอย่างสามารถตรวจดูที่ขั้วประสาทตาโดยตรงจากการตรวจตา โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงได้
การเตรียมตัวก่อนตรวจตา
- ไม่ควรใช้สายตาทำงานหนัก
- งดแต่งหน้าโดยเฉพาะบริเวณรอบๆดวงตา ไม่ใส่ขนตาปลอม
- ให้นำแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ใช้อยู่ประจำมาด้วย เพื่อเปรียบเทียบค่าของสายตาที่วัดได้
- ควรนำประวัติการรักษาโรคทางกายมาด้วย รวมทั้งชื่อยาที่รับประทานอยู่ เพราะโรคบางโรคหรือยาบางตัวอาจมีผลต่อสายตาได้ นอกจากนี้ผู้เข้ารับการตรวจควรจะแจ้งแพทย์หรือพยาบาลถึงประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สิ่งต่าง ๆ ด้วย
ตรวจสุขภาพตา ตรวจอะไรบ้าง
- การตรวจวัดสายตาหรือความสามารถในการมองเห็น (Visual Acuity Test) เป็นการตรวจโดยการอ่านป้ายที่มีตัวเลขหรือตัวอักษรขนาดต่าง ๆ ที่ระยะมาตรฐาน 6 เมตร การตรวจวัดจะทำกับตาทีละข้างโดยปิดตาข้างหนึ่ง
- การวัดสายตาด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Autorefractor) เป็นการตรวจวัดค่าสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติ จึงให้ผลการวัดที่รวดเร็วแม่นยำ และได้ผลออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน สำหรับใช้ในการนำไปตัดแว่น
- การตรวจวัดความดันลูกตา เป็นการตรวจเพื่อวัดค่าความดันภายในลูกตา ซึ่งหากสูงกว่าปกติก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน ตรวจโดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Tonometer จะเป็นการใช้ลมเป่าพ่นต่อกระจกตา ซึ่งไม่ทำให้เจ็บปวดแต่อย่างใด
- การทดสอบตาบอดสี เป็นการทดสอบความสามารถในการมองเห็นสี โดยผู้เข้ารับการตรวจจะได้ดูแผ่นภาพหลาย ๆ หน้า ซึ่งในแต่ละหน้าจะมีวงกลมวงใหญ่ที่เต็มไปด้วยจุดสีเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวเลขและเส้นเอาไว้ให้ลาก โดยจุดสีที่ใช้จะเป็นสีที่คนตาบอดสีมักสับสน ถ้าสามารถอ่านและลากเส้นได้ถูกต้องทั้งหมดก็ถือว่าตาปกติ
- การตรวจตาภายนอกทั่วไปโดยแพทย์ ซึ่งจะเป็นการตรวจดูการเคลื่อนไหวของดวงตา ลานสายตา เยื่อตา เปลือกตาขาว กระจกตา และม่านตา รวมถึงหนังตา ความห่างของขอบหนังตาบนและหนังตาล่าง ขี้ตา ขนตา ท่อน้ำตา ตำแหน่งของดวงตาทั้งสองข้าง ตุ่มหรือก้อนผิดปกติ
- สรุปผล และรับคำแนะนำจากแพทย์ หากพบผลผิดปกติอาจต้องส่งต่อเพื่อปรึกษาจักษุแพทย์และตรวจตาโดยละเอียดอีกครั้ง