วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
ปัจจุบันมะเร็งปาดมดลูก ถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับสองของมะเร็งในสตรีไทย โดยพบว่าสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกร้อยละ 99.7 เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งช่วงแรกของการติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการ โดยไวรัสนี้อาจเข้าอยู่ในเซลล์และทำให้เซลล์เปลี่ยนแปลง กลายเป็นระยะรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง จนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด หากเกิดอาการแล้วมักกลายเป็นระยะลุกลามแล้ว ฉะนั้นผู้หญิงทุกคนควรตระหนักถึงการป้องกันและการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเริ่ม
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือวัคซีนอะไร?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก คือวัคซีนป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อไวรัสเอชพีวี HPV หรือ Human papillomaVirus ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิด มะเร็งปากมดลูก เพราะทำให้เซลล์ปากมดลูกอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
ใครควรต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก? เริ่มฉีดเมื่ออายุเท่าไร?
ผู้ที่สมควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับการฉีดตั้ง แต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย (ยังไม่ติดเชื้อ ) ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี ส่วนในอายุ 13-26 ปี ก็สามารถฉีดได้ (ถึงแม้จะมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ตาม) ได้จนถึงอายุ 45ปี วัคซีนยังถือว่าเป็นประโยชน์ แม้อาจได้รับผลในการป้องกันโรคลดลงก็ตาม
ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกอย่างไร?
การฉีดวัคซีนให้ได้ประสิทธิภาพ โปรแกรมดังนี้
- ถ้าฉีดตั้งแต่อายุ 9–15ปี ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 6–12 เดือน
- ถ้าฉีดหลังอายุ 15 ปี ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม คือ 0 , 1-2 เดือน , 6-12 เดือน
ประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นอย่างไร
จากวิจัย วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ ไวรัส HPV ชนิดความเสี่ยงสูง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเซลล์เป็นรอยโรคมะเร็งในอนาคต ได้ถึง 97–98% หากฉีดตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธุ์ แต่ประสิทธิภาพจะลดลงหากมีประวัติมีเพศสัมพันธุ์แล้ว หรือประวัติติเชื้อไวรัสHPV มาก่อนหน้า
วัคซีนมีผลข้างเคียง (ผลแทรกซ้อน) ไหม ?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกผลิตจากชิ้นส่วนของไวรัส จึงไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีไม่ว่าจะเป็นกรณีใดทั้งสิ้น (ไม่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง) แต่ชิ้นส่วนหรือสารที่มีอยู่ในวัคซีน อาจเกิดอาการแพ้ได้ซึ่งอาการแพ้ทั่วไปไม่รุนแรงและพบได้น้อย เช่น เจ็บตรงที่ฉีด ,บวมแดงบริเวณที่ฉีด ,มีไข้ หรือ วิงเวียน มึนงง ซึ่งอาการจะหายได้เองภายใน 1-2 วัน โดยไม่ต้องรักษา แต่มีบางคนอาจแพ้รุนแรงถึงขั้นช็อกได้ (พบได้น้อยมาก) ถ้าเคยมีประวัติแพ้สารต่างๆ มาก่อน ดังนั้น จึงควรแจ้งแพทย์/พยาบาลเสมอ ถึงประวัติอาการแพ้ต่างๆ ก่อนฉีดวัคซีน
ฉีดวัคซีนแล้ว ยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกไหม?
ข้อนี้สำคัญที่สุด ทุกคนต้องตระหนักถึงข้อนี้ คือ วัคซีนไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก และป้องกันมะเร็งปากมดลูกไม่ได้ 100% ดังนั้น ทุกคนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกและยังต้องรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอประจำปีตามแพทย์แนะนำ
ถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนจะดูแลตนเองอย่างไร?
ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงทุกคนควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ และมารับการตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ (ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่) โดยเริ่มเมื่ออายุ 21 ปี หรือหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกแล้วอย่างน้อย 3 ปี ขึ้นอยู่กับว่าเวลาใดถึงก่อนหลังจากนั้น ความถี่ในการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์