การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุ

การตรวจสุขภาพในผู้สูงอายุ

     สำหรับผู้สูงอายุนั้นนับเป็นช่วงวัยที่ต้องใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากเป็นพิเศษ เนื่องจากวัยสูงอายุมักเจ็บป่วยได้ง่าย ร่างกายจะเสื่อมสภาพหรือเกิดโรคกับอวัยวะเกือบทั่วร่างกายได้สูง และพบโรคประจำตัวต่างๆเกิดขึ้นตามช่วงวัยได้มาก แม้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ควรตรวจเช็คร่างกายอย่างเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค อีกทั้งยังช่วยลดความเจ็บปวด ลดความทรมานในการใช้ชีวิตในวัยสูงอายุและ ช่วยให้มีอายุที่ยืนยาวได้  การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมากต่อคนทุกเพศทุกวัยและในวัยสูงอายุ ซึ่งควรได้รับการดูแลในด้านสุขภาพอย่างครบถ้วน นอกจากจะทำให้สุขภาพกายของผู้สูงอายุดีขึ้นแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพใจดีตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออายุที่ยืนยาวและความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคในระยะยาว

หากผู้สูงอายุต้องการตรวจสุขภาพควรตรวจอะไรบ้าง

     ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร่างกายมักจะเกิดความเสื่อมสภาพตามวัย การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุจึงควรต้องตรวจอย่างละเอียดและครอบคลุมนับตั้งแต่การซักประวัติจนถึงการตรวจร่างกายโดยแพทย์ รายการตรวจสุขภาพหลักๆที่ควรตรวจคือ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อุจจาระ ตรวจตา หู ช่องปาก ตรวจภายใน ตรวจสุขภาพจิต ตรวจความแข็งแรงของกระดูก

การตรวจภายนอกทั่วไป

  • ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI อย่างน้อยปีละครั้ง
  • ตรวจตา ควรได้รับการตรวจเบื้องต้นเพราะอายุเพิ่มมากขึ้นโอกาสในการเกิดโรคตา เช่น โรคต้อหิน ต้อกระจก    จอประสาทตาเสื่อม รวมถึงภาวะสายตาสั้นและสายตายาว ปัญหาการมองเห็นและความผิดปกติเหล่านี้ไม่ควรรอให้อาการหนัก จนส่งผลต่อการมองเห็นแล้วค่อยมารับการรักษาแต่ควรตรวจทุกๆ2-4 ปี
  • การตรวจหูหรือทดสอบการได้ยิน การสูญเสียการได้ยินมักเป็นส่วนหนึ่งของความชรา ควรเข้ารับการตรวจสอบทางการได้ยินปีละครั้งหรือสองปีครั้ง เพื่อดูว่ามีภาวะหูหนวก หูตึง หูชั้นนอกอุดตัน ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ และเสื่อมจากการเผชิญเสียงดังเป็นประจำหรือไม่
  • ตรวจสอบความดันโลหิต  เป็นหนึ่งความเสี่ยงของผู้สูงอายุและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจ เพื่อป้องกัน โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย อย่างน้อยปีละครั้ง หรือมากกว่านั้น
  • ตรวจสุขภาพช่องปาก เป็นการตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันโดยทันตแพทย์ เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ มะเร็งในช่องปากและปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร ปัญหาทางทันตกรรมนี้อาจนำไปสู่การสูญเสียฟันก่อนเวลาอันควร และควรเอ็กซ์เรย์ขากรรไกรอย่างน้อยปีละครั้ง
  • ตรวจกระดูก ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นโรคที่มักไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรกแต่ก็สามารถป้องกันได้ แนะนำให้ทำการสแกนกระดูกเป็นประจำหลังจากอายุ 65 ปี โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นเพศหญิงควรมาตรวจก่อนที่จะได้รับบาดเจ็บจากภาวะกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
  • การตรวจผิวหนัง โรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุได้แก่ ผื่นแพ้ยา โรคมะเร็งผิวหนัง ภาวะผิวแห้ง และการติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน    

การตรวจสุขภาพจิต

     เป็นการตรวจภาวะจิตใจและโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อย คือ โรคซึมเศร้า หรือภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะผู้ที่หย่าร้าง อยู่ตัวคนเดียว หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น

  • ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจอุจจาระ ควรตรวจทุกปี ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารเบื้องต้น
  • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป การตรวจหาภาวะโลหิตจาง ดูความเข้มข้นเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกล็ดเลือด
  • ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ หากผลการทดสอบแสดงในระดับสูง แนะนำให้เปลี่ยนแปลงและดูแลเรื่องอาหารให้ดีขึ้นด้วย
  • ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี การตรวจการทำงานของไต เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไตและเพื่อคัดกรองภาวะไตเสื่อมหรือโรคไตเรื้อรัง
  • ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี เริ่มต้นที่อายุ 45 ทำได้ด้วยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้สูงอายุ

  • ตรวจมะเร็งเต้านม เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดก้อนมะเร็งในเต้านมหรือหากตรวจพบอยู่แล้ว ก็ควรหมั่นกลับไปตรวจซ้ำอีก เพื่อดูโอกาสการเจริญเติบโตและขนาดของก้อนมะเร็งซึ่งอาจขยายใหญ่ขึ้น โดยควรได้รับการตรวจทุกๆ 1 ปี
  • ตรวจมะเร็งปากมดลูกหรือการตรวจภายใน เป็นการตรวจหาก้อนเนื้องอกในระบบอวัยวะสืบพันธุ์และดูว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย การตรวจบริเวณปากมดลูกเพื่อหาเซลล์มะเร็งซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากตามอายุ โดยผู้หญิงทุกคนควรตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากผลการตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี ก็สามารถเปลี่ยนเป็นตรวจทุก 3 ปีได้
  • ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก คนที่อายุ 50 ปีที่มีความเสี่ยงโดยเฉลี่ยสำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และยิ่งต้องเช็คหากมีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีญาติใกล้ชิดที่เสียชีวิตจากโรคนี้
  • ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปีหรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นการทดสอบที่แพทย์ใช้กล้องเพื่อสแกนลำไส้ใหญ่เพื่อตรวจหาติ่งมะเร็ง โดยหลังจากอายุ 50 แล้วควรได้รับการส่องกล้องตรวจทุก ๆ 10 ปี และควรทำให้บ่อยขึ้น ถ้าพบติ่งเนื้อหรือถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ตรวจมะเร็งตับ  การวินิจฉัยโรคทำได้โดยการการซักประวัติ และการตรวจร่างกาย การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าการทำงานของตับที่ผิดปกติ  ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับแอลฟาฟีโตโปรตีน(AFP) การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver biopsy)  การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือบางครั้งอาจใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
  • ตรวจมะเร็งในช่องปาก การตรวจวินิจฉัยและเฝ้าระวังมะเร็งในช่องปากสามารถทำได้โดยง่ายจากการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำโดยทันตแพทย์ จะตรวจหาลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น การบวมโตของเนื้องอก หรือความผิดปกติของเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงการบวมโตบริเวณศรีษะและลำคอ

 

โรคที่มักพบในผู้สูงอายุ

  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคในระบบไหลเวียนเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
  • ภาวะสมองเสื่อมและอาการหลงลืม
  • ปัญหาการได้ยินและการมองเห็น
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน มีปัญหาในการทรงตัว
  • ปัญหาเกี่ยวกับข้อหรือกระดูก เช่น กระดูกพรุน ข้อเสื่อม เกาต์
  • โรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ภาวะทุพโภชนาการและความผิดปกติในการรับประทานอาหาร
  • การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมจนเกิดผลข้างเคียงตามมา
  • ภาวะซึมเศร้าและปัญหาในการออกไปพบปะผู้อื่น หรือการเข้าสังคม

วิธีการเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ

  1. ก่อนวันที่จะตรวจควรงดอาหาร และน้ำตั้งแต่หลังเที่ยงคืน หรือเป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง
  2. ควรนอนหลับพักผ่อนมาให้เพียงพอ
  3. ควรนัดหมายกับสถานพยาบาลล่วงหน้า หากไม่สามารถมารับการตรวจได้ควรโทรมาแจ้ง หรือเลื่อนนัดทางสถานพยาบาล
  4. หากมียาที่รับประทานอยู่เป็นประจำ หรือมีโรคประจำตัวต่างๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ

วิธีโน้มน้าวให้ผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพ

     ผู้สูงอายุมักวิตกกังวลหรือกลัวโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ บางคนคิดว่า ถ้าไปตรวจจะทำให้รู้ว่าเป็นโรคอะไรจึงกลัวการตรวจสุขภาพ  และไม่อยากไปตรวจ  ดังนั้นการสร้างแรงจูงใจให้ไปตรวจนั้น จึงควรอธิบายให้ผู้สูงอายุทราบถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพ โดยการโน้มน้าวให้เห็นว่าการเสื่อมสภาพของร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากดูแลดีๆและไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและรู้ทันโรคภัยต่างๆได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพแล้วพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายตั้งแต่ในระยะแรกๆ ส่งผลให้รักษาได้ง่าย และรวดเร็ว ได้ผลดี ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก


Scroll to Top