มารู้จักโรคมะเร็ง

โรคมะเร็ง

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆของร่างกายซึ่งเซลล์เหล่านี้มีการเจริญเติบโตผิดปกติโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ก่อให้เกิดเป็นก้อนเนื้อที่มีความผิดปกติซึ่งสามารถลุกลามและแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆของร่างกายได้

ในปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย และมีแนวโน้มของโรคมะเร็งสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกปีโดยสามอันดับมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของประเทสไทยในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี  มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ตามลำดับ ส่วนในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับและทางเดินน้ำดีตามลำดับซึ่งโรคมะเร็งบางชนิดหากได้รับการคัดกรองหรือตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้  ดังนั้นจึงควรมาตรวจรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการหรือผลคัดกรองมะเร็งผิดปกติ

ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง

ปัจจัยที่มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การติดเชื้อไวรัส (ไวรัสตับอักเสบ บี ซี, ไวรัสเอชพีวี, ไวรัสเอชไอวี) การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ รังสีเอกซเรย์ อุลตราไวโอเลตจากแสงแดด สารเคมีต่างๆ รวมทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม

อาการที่อาจบ่งบอกถึงโรคมะเร็ง

  • ตรวจพบก้อนตามตัวหรือก้อนที่ผิวหนัง เช่น คลำก้อนได้ที่เต้านม
  • มีไฝขึ้นผิดปกติ หรือลักษณะเปลี่ยนแปลงจากเดิม
  • ไอเรื้อรังและอาการเสียงแหบ
  • ระบบขับถ่ายและระบบปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ถ่ายอุจจาระปนเลือด ถ่ายอุจจาระท้องผูกสลับท้องเสีย ปวดหน่วงบริเวณทวารเวลาถ่าย เป็นต้น
  • ปวดท้องเรื้อรังหรือกลืนลำบากผิดปกติ เช่น กลืนลำบาก กลืนติด คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องเรื้อรัง
  • น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ
  • มีตกขาวหรือเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อเข้ารับตรวจเพิ่มเติมและวินิจฉัยโรคโดยเร็ว นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งบางรายโดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นอาจยังไม่แสดงอาการผิดปกติ ดังนั้นแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีและเข้ารับการคัดกรองมะเร็งตามอายุและความเสี่ยงตามคำแนะนำของแพทย์

การดูแลรักษาโรคมะเร็ง

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง โรคมะเร็งแต่ละชนิดและแต่ละระยะของโรคนั้นมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป โดยในผู้ป่วยบางรายอาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา

แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน ได้แก่

  1. การรักษาด้วยการผ่าตัด
  2. การรักษาด้วยยา
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ( Chemotherapy )
  • การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า ( Targeted therapy )
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ( Immunotherapy )
  • การรักษาด้วยยาฮอร์โมน (Hormonal therapy)
  1. การรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาและการฝังแร่
  2. การรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา ได้แก่ การทำลายก้อนมะเร็งที่ตับด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะจุด (Transarterial chemoembolization: TACE)
  3. การรักษาประคับประคอง การดูแลระงับปวด
Scroll to Top