นอนกัดฟันอันตรายที่ท่านอาจไม่รู้

นอนกัดฟันอันตรายที่ท่านอาจไม่รู้

นอนกัดฟันเป็นความผิดปกติ

เกิดขึ้นขณะหลับ โดยมีลักษณะขบเน้นฟันแน่นๆ หรือฟันบนล่างบดถูไถซ้ำๆกัน ในคืนหนึ่งๆผู้ที่มีอาการอาจมีอาการดังกล่าวมากกว่า 80-100 ครั้ง คนนอนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเองคล้ายกับคนที่นอนกรนซึ่งมักไม่รู้ตัวเองเช่นกัน

การนอนกัดฟันที่มีลักษณะขบฟันแน่นๆ มักไม่มีเสียงดังทำให้ไม่มีผู้ใดได้ยิน คนที่นอนกัดฟันแบบนี้จึงมักไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นคนนอนกัดฟัน“ดังนั้นการนอนกัดฟันจึงเป็นภัยเงียบที่ท่านอาจไม่รู้ตัว”

การนอนกัดฟันวินิจฉัยยากเนื่องจากเกิดเป็นช่วงสั้นๆ อาจไม่มีเสียงดัง และคนนอนหลับมักไม่รู้ตัว การวินิจฉัยที่ดีที่สุด คือ การตรวจการนอน (Sleep test) ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน เพื่อวัดการทำงานของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวในขณะหลับนอน หรืออาจใส่แผ่นบรั๊กเชคเกอร์ขณะนอนหลับ วิธีอื่นๆ คือ การสังเกตอาการที่เป็นผลของการนอนกัดฟัน เช่น หลังตื่นนอนมีอาการเมื่อยตึงที่ขมับใบหน้าหรือต้นคอ หรือตึง ชาที่ฟัน กัดฟันแล้วเจ็บหลายซี่ หรือเสียวฟันหลายซี่ หรือบางครั้งรู้สึกตัวเองตื่นสลึมสลือเหมือนกำลังกัดฟัน หรือสังเกตว่าฟันบิ่นแตก หรือแก้มกางใหญ่ขึ้นเพราะกล้ามเนื้อแก้มขยายใหญ่ หรือมีปุ่มกระดูกในปากใหญ่ หรือทันตแพทย์ตรวจพบว่าท่านมีฟันสึกมากจนผิดปกติ “อาการเหล่านี้บ่งบอกว่าท่านอาจนอนกัดฟัน”

ผลเสียของการนอนกัดฟัน
  1. มีฟันสึก ทำให้ฟันสั้นลง ฟันบาง ฟันสึกเป็นร่อง มีอาการเสียวฟัน ทิ้งไว้นานฟันยิ่งสึกมากจะมีปัญหาเรื่องความสวยงามตามมา ทำให้ใบหน้าสั้นลงเพราะฟันเป็นอวัยวะสำคัญช่วยรักษารูปหน้าด้วย
  2. ฟันบิ่น ฟันแตก ฟันร้าว ฟันสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน ทำให้ปวดฟันเคี้ยวอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมากเพื่อรักษาฟัน
  3. ปวดเมื่อยล้าบริเวณใบหน้าและข้อต่อขากรรไกร ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารไม่ได้ เพราะอาการปวดส่งผลกระทบต่อการบดเคี้ยวและอารมณ์จิตใจ
  4. กระดูกกรามขยายใหญ่เป็นปุ่มกระดูกนูน บางคนกล้ามเนื้อบริเวณแก้มทั้งสองข้างขยายใหญ่ขึ้น ทำให้ใบหน้ากางออกเป็นเหลี่ยม
  5. ทำให้ความสำคัญของคู่สามีภรรยาแย่ลง เนื่องจากเสียงดังที่เกิดจากการนอนกัดฟันจะรบกวนคนที่นอนด้วย
การนอนกัดฟันรักษาได้อย่างไร

                เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการนอนกัดฟัน ดังนั้นการรักษาเพื่อหยุดการนอนกัดฟันยังไม่ได้ผลเต็มร้อย ควรควบคุมตัวกระตุ้นที่ทำให้นอนกัดฟัน เช่น ความเครียด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลมบางชนิด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด หรือยาที่ใช้รักษาโรคบางตัว เป็นต้น นอนกัดฟันที่เกิดร่วมกับนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นทางเดินหายใจ ควรรักษาเรื่องนอนกรนและภาวะหยุดหายใจด้วย จะช่วยลดภาวะนอนกัดฟันดีขึ้น

การรักษาการนอนกัดฟัน มีดังนี้
  1. งดเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่ และมื้ออาหารหนักก่อนนอน ห้องนอนควรเงียบสงบ สะอาด ไม่ควรมีแสงสว่างมากเกินไป ไม่ควรทำกิจกรรมที่ทำให้ตื่นเต้นก่อนเข้านอน
  2. ใส่เฝือกสบฟัน (Occlusal splint) เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก
  3. ใส่ทันตอุปกรณ์ช่วยยื่นขากรรไกรล่าง (Mandible Advancement Device) รักษานอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับฯ ร่วมกับนอนกัดฟัน
  4. การใช้ยาที่มีผลไปปรับการนอนเพื่อช่วยลดการนอนกัดฟัน
Scroll to Top