Dysfunction Uterine Bleeding (DUB)

Dysfunction Uterine Bleeding (DUB)

     DUB คือ ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงมดลูกที่มีลักษณะรูปแบบแตกต่างจากการมีเลือดออกจากโพรงมดลูกของรอบระดู โดยที่ไม่พบสาเหตุทางพยาธิวิทยา

อาการ

     ผู้ป่วยจะมีเลือดออกคล้ายเลือดประจำเดือนออกมากหรือกะปริดกะปรอยนานเป็นสัปดาห์ ผู้ป่วยอาจมีภาวะซีด และอ่อนเพลียจากการที่มีเลือดออกมาก แต่ไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีประวัติประจำเดือนขาดนำมาก่อนสัก 2-3 เดือนในบางราย

สาเหตุ

      เกิดจากฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรนในเพศหญิงเกิดการเสียสมดุล เกิดภาวะเอสโทรเจนในร่างกายสูงกว่าปกติทำให้มดลูกหนาตัวขึ้น ทำให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูกตามมา มักเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มักพบในผู้หญิงที่มีรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่

สิ่งตรวจพบ

     มักจะตรวจไม่พบสิ่งที่ผิดปกติได้ชัดเจน แต่อาจตรวจพบภาวะซีดในรายที่มีเลือดออกมาก

ภาวะแทรกซ้อน

     การเสียเลือดอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรืออาจเกิดภาวะช็อกเกิดขึ้นได้ในรายที่มีเลือดออกมากและเร็ว

การรักษา

     หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรรีบเข้ามาพบแพทย์ เพื่อดูว่ามีการหนาตัวของเยื่อบุมดลูกหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอัลตราซาวนด์ผ่านทางช่องคลอด และอาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าสงสัยมีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก เช่น ตรวจชิ้นเนื้อในรายที่สงสัยเป็นมะเร็งเยื่อบุมดลูกในผู้ป่วยอายุมากกว่า 35 ปี

  1. ผู้ป่วยวัยรุ่น การตรวจร่างกายและการตรวจภายในหรือตรวทางทวารหนัก ขึ้นอยู่กับดุจพินิจของแพทย์ผู้รักษา ถ้าไม่พบความผิดปกติอื่น แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ฮอร์โมนรักษาเป็นอันดับแรก
  • ผู้ป่วยในวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่จะรักษาด้วยฮอร์โมนถ้าการรักษาด้วยฮอร์โมนไม่ได้ผลก็พิจารณาขูดมดลูกหรือเกิดจากการมีพยาธิสภาพในตัวมดลูก เช่น submucous myoma หรือ endometrial polyp ให้พิจารณาส่งไปทำ hysteroscopy
  • ผู้ป่วยวัยใกล้หมดระดู ต้องขูดมดลูก (F/C : Fractional dilatation and curettage) เพื่อแยกโรค การวางแผนการรักษาขึ้นกับผลทางพยาธิวิทยา ถ้าไม่มีการหนาตัวที่ผิดปกติก็ให้ฮอร์โมนบำบัดรักษาป้องกันการเกิดซ้ำ  แต่ถ้าพบการหนาตัวผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง atypical hyperplasia  ควรพิจารณาตัดมดลูกออกพร้อมรังไข่ทั้งสองข้าง
  • ผู้ป่วยวัยหมดระดู สาเหตุของเลือดออกผิดปกติส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความหนาของเยื่อบุ โพรงมดลูกถ้ามีความหนาเกิน 5 มม.แพทย์จะพิจารณาขูดมดลูก และรักษาตามผลพยาธิสภาพต่อไป

ข้อแนะนำ

     ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุโรคให้แน่ชัด

Scroll to Top