ฟื้นฟูกล้ามเนื้อผู้ป่วยหลอดเลือดสมองด้วยศาสตร์จีน
การดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญและเมื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อได้เร็วมากเท่าไหร่จะทำให้มีอาการหลงเหลือน้อยลงเท่านั้น ระยะเวลาที่ได้ผลดีในการฟื้นฟูสมอง กล้ามเนื้อและร่างกาย (Golden Period) คือ ไม่เกิน 3 – 6 เดือนแรกหลังเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก
อาการที่มักพบหลังจากที่ป่วยเป็นหลอดเลือดสมอง
- กล้ามเนื้อแขน-ขาข้างที่มีผลกระทบเป็นอัมพาต อ่อนแรงครึ่งซีก
- กล้ามเนื้อ ข้อต่อต่างๆ ติดขัด แข็งเกร็ง เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่มีแรงเคลื่อนไหวร่างกาย
- กล้ามเนื้อลำคอ กล่องเสียงและลิ้นแข็งเกร็ง ทำให้พูดออกเสียงไม่ชัด กลืนน้ำและอาหารลำบาก
- แขน ขา มือและเท้าบวม เนื่องจากไม่มีการเคลื่อนไหว
- ปวดเมื่อยร่างกาย ไม่สบายตัว ส่งผลให้นอนไม่หลับ
- กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก
แพทย์แผนจีนถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาและฟื้นฟูปัญหากล้ามเนื้อและสุขภาพของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองให้ดีขึ้นได้ ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ สมองและกล้ามเนื้อถูกกระตุ้นและเกิดการพัฒนา ไม่เกิดความพิการซ้ำซ้อนหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากการติดเตียง อาทิเช่น
1.การฝังเข็ม
– เข็มที่ฝังลงไป 20-25 นาทีจะทำหน้าที่ปรับการไหลเวียนของระบบเลือดและลมปราณในร่างกายให้เป็นปกติ
– กระตุ้นแรงและกำลังให้กับกล้ามเนื้อซีกที่อ่อนแรงให้มีแรงเคลื่อนไหวมากขึ้น
– คลายการหดตัวของกล้ามเนื้อ การยึดติดของข้อต่อที่ไม่ได้ถูกใช้งาน
– ฝังเข็มลงบนกล้ามเนื้อลำคอ กล่องเสียงและลิ้น ช่วยให้การกลืนดีขึ้น ไม่สำลักง่าย ลิ้นไม่แข็งเกร็ง
– อาจใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าติดที่เข็มเป็นการเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าช่วยในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมีการหดขยายเสมือนการบริหารร่างกาย
– ช่วยปรับอารมณ์ ปรับความสมดุลของสารสื่อประสาทและการทำงานของสมอง ลดภาวะซึมเศร้าและช่วยให้นอนหลับสบาย
– ให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนและการกลับมาเป็นซ้ำได้
2.การนวดทุยหนา
– การนวดทุยหนาเป็นหัตถบำบัดที่ใช้แรงจากฝ่ามือที่อ่อนโยน นุ่มลึกไม่ทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยบาดเจ็บ
– ใช้แรงคลึง บีบ นวด กดจุด คลายกล้ามเนื้อเกร็งแข็ง บรรเทาอาการปวดเมื่อยจากการไม่ค่อยได้ขยับตัว หรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ให้ดีขึ้น รวมถึงฟื้นฟูภาวะติดขัดของข้อต่อต่าง ๆ
– ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย จิตใจสบายขึ้น ลดความกังวล ความเครียดและภาวะซึมเศร้าจากความเจ็บป่วยได้
– นอกจากนั้นแพทย์แผนจีนจะแนะนำท่าทาง ฝึกกายบริหาร เคลื่อนไหวแขนขาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยอีกด้วย