Post Views: 344
ต้อกระจก (cataract)
เป็นภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง พบได้ในทุกช่วงอายุแต่พบมากในผู้สูงอายุ อาจเป็นแค่ข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้
สาเหตุ
- เลนส์แก้วตาเสื่อมตามอายุ
- เคยได้รับอุบัติเหตุทางตา
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางตา เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ
- โรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา
- การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น สเตียรอยด์
- โรคทางอายุรกรรมบางอย่าง ที่ทำให้ต้อกระจกเป็นเร็วกว่าปกติ เช่น เบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลไม่ดี
อาการ
- ระดับการมองเห็นลดลงอย่างช้าๆ
- มีการเปลี่ยนแปลงความผิดปกติของสายตาสั้นและเอียงมากขึ้น
- เห็นแสงแตกกระจาย
- เห็นภาพซ้อนในตาข้างที่เป็นต้อกระจก
- ตาสู้แสงไม่ได้
การรักษา
- การผ่าตัดต้อกระจกใส่เลนส์แก้วตาเทียม
- สวมแว่นสายตาหรือแว่นกันแดดหากการมองเห็นยังลดลงไม่มาก
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต้อกระจก
- การมองเห็นลดลงจากต้อกระจกซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
- เกิดภาวะแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น ต้อหิน
- มีความจำเป็นต้องตรวจรักษาโรคจอตาและมีต้อกระจกบดบัง ทำให้ไม่สามารถตรวจและรักษาได้สะดวก เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน
วิธีการผ่าตัดต้อกระจก
- Phacoemulsification with IOL เป็นวิธีการผ่าตัดสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและดูดเลนส์ออกมา เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2-3 มิลลิเมตร และใช้เลนส์แก้วตาเทียมแบบพับได้ จึงไม่จำเป็นต้องเย็บแผล ทำให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นชัดได้เร็ว ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยกว่า
- ECCE (Extracapsular Cataract Extraction) with IOL เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเลนส์แก้วตาออกมา โดยเปิดแผลยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ และเย็บปิดแผล เหมาะกับกรณีที่เลนส์แข็งมาก
เลนส์แก้วตาเทียม
คือ เลนส์สังเคราะห์ใช้สำหรับใส่ทดแทนเลนส์ตาผ่าตัดต้อกระจก ปัจจุบันมีหลายชนิด ดังนี้
- Monofocal IOL เลนส์โฟกัสระยะเดียว ผู้ป่วยจะมองไกลชัด แต่ต้องสวมแว่นเมื่อใช้งานระยะใกล้ เช่น อ่านหนังสือ
- Multifocal IOL เลนส์โฟกัสหลายทั้งระยะใกล้และไกล สามารถลดการสวมแว่นอ่านหนังสือ
- Trifocal IOL เลนส์โฟกัสชัดระยะไกล ใกล้ และระยะกลาง
- Extended monofocal IOL เลนส์โฟกัสชัดระยะไกล ใกล้ และระยะกลาง เลนส์จะมีความเด่น ที่ระยะกลาง
- Toric IOL เลนส์โฟกัสระยะเดียว แก้สายตาเอียง
คำแนะนำก่อนการผ่าตัด
- สระผมให้สะอาดในวันก่อนผ่าตัด 1 วัน
- เช้าวันผ่าตัด อาบน้ำ ล้างหน้า ใช้สบู่ฟอกใบหน้า คิ้ว รอบดวงตาให้สะอาด
- อาหารเช้าควรรับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่ควรทานอาหารหนักเกินไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ควรรักษาและควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน
- รับประทานยาประจำตัวตามปกติ
- ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด ควรหยุดก่อนผ่าตัด 7 วัน
คำแนะนำหลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัดแพทย์จะปิดตาแน่น และนัดเปิดตาวันรุ่งขึ้น
- วันแรกหลังผ่าตัด ไม่ให้นอนคว่ำหน้าหรือตะแคงหน้าทับตาข้างที่ผ่าตัด
- ไม่ควรไอ หรือจามแรงๆ
- ไม่ควรถูหรือขยี้ตา
- ไม่ให้น้ำเข้าตา 1 เดือน เช็ดรอบตาด้วยสำลีชุบน้ำเกลือสะอาด
- ปิดฝาครอบตาขณะนอนป้องกันการขยี้ตา โดยล้างและเช็ดฝาครอบตา ปิดด้วยพลาสเตอร์
- สวมแว่นตากันแดดเมื่อออกจากบ้าน
- สามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิด
- รับประทานยาและหยอดยาตามแพทย์สั่ง
- ไม่ใช้ยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น
- แพทย์นัดตรวจตาหลังผ่าตัด 1วัน 1สัปดาห์ 1เดือน 3เดือน
- หากมีอาการตาแดง ตามัวลง ปวดตา หรือมีขี้ตาให้มาพบแพทย์ก่อนนัด