
ศูนย์รักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวานโรงพยาบาลปิยะเวท
แผลเบาหวานที่เท้า รักษา ควบคุม ป้องกันได้
ปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวานนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพราะเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียขาและเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน จากข้อมูลของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพบว่า 15% ของผู้ป่วยเบาหวาน จะเกิดแผลที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้า แต่อย่างไรก็ตามสถิติของสมาพันธ์เบาหวานโลก (International Diabetes Federation) พบว่าประมาณ 85% ของการสูญเสียขาจากเบาหวานสามารถป้องกันได้ หากได้รับการตรวจหาสาเหตุและรักษาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

ศูนย์รักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน โรงพยาบาลปิยะเวท ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการดูแล รักษา ฟื้นฟู และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยที่เป็นแผลที่เท้าจากโรคเบาหวานอย่างครอบคลุม ดูแลรักษาตั้งแต่ต้นเหตุสู่ปลายเหตุ โดยมีทีมสหแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูงในการรักษาแผลที่เท้า ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึ่ม อายุรแพทย์หัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ศัลยแพทย์หลอดเลือด ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแผลติดเชื้อ รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด ร่วมกันดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ
นอกจากบุคลากรที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถจากหลากหลายสาขาแล้ว ศูนย์รักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน โรงพยาบาลปิยะเวท ยังโดดเด่นด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลทางการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมด้วยห้องพักบรรยากาศอบอุ่น มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อมอบความสะดวกสบายในการพักฟื้นร่างกายของผู้ป่วย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตลอดระยะเวลาที่รักษา
สาเหตุการเกิดแผลที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
เกิดจากอาการเสื่อมของประสาทส่วนปลายที่ไปเลี้ยงมือและเท้า ส่งผลให้การรับรู้ความรู้สึกน้อยลง เกิดอาการชาโดยเฉพาะนิ้วเท้า เป็นแผลโดยไม่รู้ตัว หรือกว่าจะสังเกตพบแผลก็ลุกลามไปมาก เมื่อประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อขาและเท้าเสื่อม กล้ามเนื้อจะแฟบลง ทำให้โครงสร้างของเท้าผิดปกติ เท้ารับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอ บริเวณที่รับน้ำหนักมากหรือถูกกดอยู่เป็นเวลานานจะหนาขึ้น เกิดเป็นตาปลาหรือเป็นแผลได้
หลอดเลือดไปเลี้ยงที่เท้าตีบ ทำให้การไหลเวียนของโลหิตที่ไปสู่ขาลดลง ส่งผลให้เท้าขาดออกซิเจน ผิวหนังจะบางลง แผลหายช้า
ผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในโลหิตสูงอยู่นาน จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อราที่ผิวหนังระหว่างนิ้วเท้า ทำให้ผิวหนังถลอกมีแผลเกิดขึ้น อาจจะมีเชื้อโรคที่รุนแรงเกิดขึ้นตามมา
สัญญาณเตือน
ขนที่เท้าหรือขาจะน้อย
สีผิวของขาจะคล้ำขึ้น บางรายอาจจะซีด
เท้าจะเย็น อุณหภูมิเท้าสองข้างไม่เท่ากัน คลำชีพขจรที่หลังเท้าไม่ได้
แผลเรื้อรังที่เท้า เล็บหนาตัว หากเป็นมากจะมีการเน่าของนิ้ว

อาการ
ระยะแรก : อาจไม่มีอาการใดๆ แต่เมื่อมีการตีบตันของเส้นเลือดมากขึ้นจะทำให้มีอาการปวดที่ขาเวลาเดิน และเป็นต่อเนื่องไประยะหนึ่ง
ระยะต่อมา : เมื่อการตีบตันมากขึ้นอีก ผู้ป่วยจะเริ่มเดินได้น้อยลงเพราะความเจ็บปวด อาจมีแผลเกิดขึ้น ซึ่งหายยาก มีลักษณะอาการนิ้วเท้าดำ นิ้วตาย และอาจทำให้เสียขาได้
หัตถการ / เทคนิคการรักษา
ศูนย์รักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน โรงพยาบาลปิยะเวท มุ่งเน้นการรักษาแบบบูรณาการจากสหแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันตรวจวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดแผล วิเคราะห์โอกาสการหายของแผล ค้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล ดูแลและป้องกันการเกิดแผลซ้ำหลังการรักษา รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น โดยมีเทคนิคการตรวจรักษา ดังต่อไปนี้
การวินิจฉัยแผลเบาหวาน
เป็นวิธีการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์สันนิษฐานได้ว่าแผลที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง และดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเลือดไปตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด จำนวนเม็ดเลือดขาว ค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสม ค่าครีเอตินิน (Creatinine) หรือการวัดค่าการทำงานของไต จากนั้นจึงจะนำผลมาวินิจฉัยร่วมกับข้อมูลที่ได้
เป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวาน การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นว่าผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเป็นแผลเบาหวานจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายหรือไม่
เป็นการตรวจว่าเลือดไหลเวียนในร่างกายดีหรือไม่ เพื่อประเมินการไหลเวียนของเลือดที่ส่งผลต่อการรักษาบาดแผล โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะที่มีสายรัด รัดบริเวณต้นขา น่อง ข้อเท้า และเท้า ซึ่งหากระบบการไหลเวียนเลือดไม่แสดงผลออกมาชัดเจน แพทย์อาจมีการตรวจซ้ำเป็นระยะ ร่วมกับวิธีการอื่นๆ
เป็นการตรวจดูความผิดปกติและความรุนแรงที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ซึ่งแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า Doppler ตรวจบริเวณที่มีรอยโรค หากคลื่นเสียงที่สะท้อนออกมาแตกต่าง จะทำให้แพทย์ทราบว่าเกิดความผิดปกติ และนำผลมาวิเคราะห์เพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้แพทย์รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น
จะช่วยให้แพทย์เห็นภาพความผิดปกติที่อยู่ใต้แผลเบาหวานในเบื้องต้นว่ามีภาวะกระดูกอักเสบหรือกระดูกผิดรูปจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานหรือไม่
การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) หรือซีทีสแกน (CT Scan) จะช่วยให้แพทย์เห็นการเกิดฝีซึ่งเป็นผลมาจากการติดเชื้อแผลเบาหวาน ในบริเวณที่เห็นไม่ชัดเจนจากการตรวจร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้
มีจุดประสงค์เพื่อตรวจหาการอักเสบ แต่ไม่ใช่การตรวจที่นิยมใช้มากนัก เนื่องจากอาจให้ผลที่ผิดเพี้ยนได้
ในกรณีที่แพทย์พบการอุดตันของหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุของแผลเบาหวาน แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อดูขอบเขตของการอุดตัน โดยแพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปในหลอดเลือดและฉีดสารเรืองแสงเข้าไป จากนั้นจะเอกซเรย์ด้วยรังสี ภาพที่ได้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการผ่าตัดรักษาได้ดีขึ้น
วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผิวหนังใกล้เคียงบริเวณแผลได้รับออกซิเจนจากเลือดเพียงพอหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการสมานตัวของแผล
การรักษาแผลเบาหวาน
ในเบื้องต้น ควรหยุดหรือหลีกเลี่ยงการใช้งานอวัยวะดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่แผลจนทำให้เกิดการติดเชื้อหรือแผลขยายใหญ่ขึ้น หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงกว่าปกติ หรือมีหนอง แพทย์จะกรีดเปิดแผลให้กว้างเพื่อระบายหนองออกและตัดเนื้อหรือผิวหนังที่ตายออก จากนั้นจะล้างแผลด้วยน้ำเกลือ แล้วปิดแผลด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือผสมเบตาดีนเจือจาง ซึ่งควรล้างแผลอย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจะเริ่มรักษาในขั้นต่อไป โดยจะวางแผนการรักษาโดยดูจากระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น
หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือพบการติดเชื้อ แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย โดยอาจให้เป็นยารับประทาน หรือชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือหลอดเลือดดำ โดยแพทย์จะพิจารณาตามลักษณะและความรุนแรงของแผล
เนื่องจากโรคเบาหวานมีผลต่อหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดแดงตีบตัน โต หรือแตกได้ ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดนั้นนำเลือด ออกซิเจน และสารอื่นๆ ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ไม่ได้ จึงเกิดภาวะขาดเลือด ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลที่เท้าอันมีสาเหตุจากหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จึงจำเป็นต้องทำการรักษาแก้ไขภาวะหลอดเลือดตีบตัน เพื่อให้มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ และแผลจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น
วิธีการเปิดหลอดเลือดแดงที่อุดตันในปัจจุบัน ได้แก่
1. การสอดสายสวนขยายหลอดเลือด
ก่อนจะทำการสอดสายสวนขยายหลอดเลือด แพทย์จะตรวจดูหลอดเลือดด้วยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งของการตีบตันได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์สำหรับวางแผนการรักษาลำดับต่อไป หลังจากทราบตำแหน่งของหลอดเลือดที่มีปัญหาแล้ว ก็จะทำการรักษาโดยการเจาะสายสวนและใส่ลวดเข้าไปในบริเวณหลอดเลือดตรงขาที่เกิดการตีบ จากนั้นใช้บอลลูนขยายหลอดเลือด จนสามารถแก้ไขหลอดเลือดที่ตีบได้ ช่วยให้ปริมาณเลือด สารอาหารและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเท้าได้อย่างเพียงพอ จนแผลเบาหวานหายเป็นปกติ
เทคโนโลยีการรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่นำบอลลูนเข้าไปขยายในเส้นเลือดที่มีการตีบจุดสั้นๆ ได้เท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถขยายได้มากกว่า แม้จะมีการตีบตันเป็นระยะทางที่ยาวขึ้น
- ไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น มีเพียงรูเข็มเล็กๆที่ผิวหนังบริเวณที่เจาะเท่านั้น
- ไม่ต้องเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
- ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น
- สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายจากการผ่าตัด
2. การผ่าตัด Bypass ตัดต่อเส้นทางเดินเลือด
การผ่าตัด Bypass สำหรับรักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวานเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินเลือด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดข้ามจุดที่มีการตีบตันไปยังหลอดเลือดส่วนปลายที่ดี ซึ่งสามารถใช้หลอดเลือดของตัวผู้ป่วยเอง หรือหลอดเลือดเทียมก็ได้ เพื่อทำให้เลือดมีระบบหมุนเวียนไปเลี้ยงที่ขาและบริเวณแผลได้ แต่วิธีนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าวิธีแรก จึงต้องประเมินร่างกายว่าแข็งแรงพอจะทำการผ่าตัดบายพาสหรือไม่
การตัดแต่งแผล (Debridement)
การตัดเนื้อบางส่วนเพื่อแต่งแผลเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการรักษาและทำให้แผลหายเร็วขึ้น โดยแพทย์จะตัดเลาะเอาเนื้อเยื่อและผิวหนังมีการหนาตัวออก รวมทั้งเนื้อเยื่อที่เน่าตาย เอ็นพังผืดและกระดูก จนเหลือแต่เนื้อเยื่อที่ดี มีเลือดไหล ซึ่งการตัดแต่งแผลนี้เป็นการขจัดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนแผลออกไป กระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น และลดอัตราการติดเชื้อเฉพาะที่ ทั้งนี้ศัลยแพทย์จะทำการตัดแต่งแผลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง พร้อมกับประเมินลักษณะของแผลเป็นระยะ
เทคโนโลยีทางการรักษา
เทคโนโลยีไฮเปอร์แบริค (Hyperbaric Oxygen Therapy)
การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) หรือ HBO เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทและเป็นที่ยอมรับในการรักษาแผลเบาหวานเรื้อรัง ร่วมกับการรักษาทางอายุรกรรมและศัลยกรรม มีหลักการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะอยู่ใน “ห้องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber)” ที่มีความดันภายในสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนในประมาณสูงมากกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ในบรรยากาศปกติหลายเท่า เมื่อปริมาณออกซิเจนในเนื้อเยื่อรอบแผลมีมากขึ้น เซลล์ต่างๆ ที่ได้รับออกซิเจนจะเริ่มทำงาน ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ รวมถึงมีการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอยใหม่ๆ ขึ้น ช่วยให้แผลฟื้นฟูตัวเองได้ดีขึ้น กระทั่งหายได้ในที่สุด

- ช่วยกระตุ้นการเจริญของเนื้อเยื่อและหลอดเลือดฝอย
- ช่วยยับยั้งและต่อต้านการติดเชื้อโรคบางชนิด
- เพิ่มประสิทธิภาพเซลล์เม็ดเลือดขาวในการทำลายเชื้อโรค
- ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น
- ลดอาการบวมของอวัยวะ
- ลดขนาดของฟองอากาศในเนื้อเยื่อและหลอดเลือด
- ลดความพิการและสูญเสียอวัยวะ
- ช่วยให้แผลเรื้อรังต่างๆ ที่เกิดจากการขาดออกซิเจนหายเร็วขึ้น
- ช่วยลดระยะเวลาของการรักษาลง ผู้ป่วยจึงสามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษา
เครื่องวัดออกซิเจนทางผิวหนัง (Transcutaneous oxygen measurement : TCOM)
เครื่องวัดออกซิเจนทางผิวหนัง หรือ TCOM ใช้สำหรับประเมินระดับออกซิเจนในกลุ่มผู้ป่วยแผลเบาหวานที่มีปัญหาของหลอดเลือด เพื่อดูว่าระดับการขาดออกซิเจนมากน้อยเพียงใด จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยเครื่องไฮเปอร์แบริคได้หรือไม่ ก่อนจะหาตำแหน่งที่จะผ่าตัดและการแก้ไขทางด้านศัลยกรรมหลอดเลือดอื่นๆ ที่จำเป็น ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้แพทย์มีแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก ทั้งในส่วนของการรักษาที่รวดเร็ว แม่นยำ ตรงจุด และการลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา

Extracorporeal shock wave therapy (ESWT)
เทคโนโลยี Extracorporeal shock wave therapy เป็นการใช้คลื่นเสียงที่มีความเข้มต่ำแบบแรงกระแทกจากภายนอก เพื่อรักษาอาการแผลอักเสบเรื้อรังร่วมกับวิธีอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ กลไกการรักษาของเครื่องนี้จะเน้นการกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมและการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ช่วยขยายหลอดเลือดเฉพาะจุด ช่วยการสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่ ทำให้เลือดไปเลี้ยงจุดสำคัญได้ดีขึ้น ส่งผลให้แผลได้รับสารอาหารและเลือดอย่างเพียงพอจนฟื้นฟูได้ด้วยตัวเอง เทคโนโลยีนี้ไม่ใช้ความร้อน ไม่อันตราย และสามารถใช้ได้บ่อย ประมาณสัปดาห์ละครั้ง
VERSAJET II Hydrosurgery System
ทางโรงพยาบาลได้นำเทคโนโลยี VERSAJET II Hydrosurgery System มาช่วยในการศัลยกรรมตกแต่งแผล โดยเป็นการใช้ระบบความดันสูงและแรงดันน้ำความเร็วสูงลำเลียงของเหลวที่ปลอดเชื้อเข้าไปช่วยชำระล้างสิ่งปนเปื้อนและเนื้อเยื่อที่ไม่ดีออกจากบาดแผล ทำให้แผลมีลักษณะเรียบขึ้น สามารถลดการแพร่กระจายของแบคทีเรียในบาดแผลได้ ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ช่วยรักษาเนื้อเยื่อที่ยังทำงานได้ และลดเวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลให้สั้นลง

การรักษาแผลโดยวิธีสุญญากาศ (Negative pressure wound therapy)
การรักษาแผลโดยวิธีสุญญากาศเป็นนวัตกรรมใหม่ในศัลยกรรมตกแต่งที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาแผลโดยระบบสุญญากาศในบริเวณตำแหน่งที่เป็นแผล โดยใช้ชุดสร้างสุญญากาศที่เชื่อมต่อกับชุดทำแผลระบบปิดดูดเอาสารคัดหลั่งจากแผลออกมาที่ชุดกักเก็บของเสีย โดยจะทำงานเป็นช่วงๆ เปิดปิดสลับกัน 3-5 นาที ใช้ระบบสุญญากาศประมาณ 75-125 มิลลิเมตรปรอท เปลี่ยนชุดทำแผลทุก 72 ชั่วโมง การรักษาด้วยระบบสุญญากาศจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนกระแสเลือดมาที่แผล เพิ่มการสร้างเส้นเลือดและขยายขนาดของเส้นเลือด ลดอาการบวมของแผล ดึงสารคัดหลั่งและเชื้อโรคออกจากแผล ทำให้มีการแบ่งตัวและสร้างเนื้อเยื่อเร็วขึ้น รวมถึงลดปริมาณของแบคทีเรียในบาดแผลด้วย
รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ศูนย์รักษาแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน โรงพยาบาลปิยะเวท มีนวัตกรรมรองเท้าที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีประสิทธิภาพและมีขนาดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีแผลที่เท้าจากโรคเบาหวานแต่ละราย ซึ่งจะสามารถจำกัดหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดกับแผลบริเวณเท้าได้ ช่วยลดโอกาสของการตัดเท้าลง โดยรองเท้าทุกคู่จะได้รับการออกแบบเป็นพิเศษและจัดทำด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ ทำให้ผู้ป่วยสามารถมั่นใจและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
การป้องกันการเกิดแผลที่เท้าจากโรคเบาหวาน
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีที่สุด
- งดการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอ
- ควบคุมไขมันในเลือดไม่ให้สูงเกินปกติ
- โรคความดันโลหิตสูงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หมั่นดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีความปกติหรือเกิดแผล ควรรีบมาพบแพทย์