ถุงน้ำรังไข่หรือซิสต์รังไข่ (Ovarian cyst)

 

ถุงน้ำรังไข่หรือซิสต์รังไข่ (Ovarian cyst)

     ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่ (Ovarian cyst) เป็นโรคของระบบสืบพันธุ์ของสตรีที่พบได้บ่อยเป็นลำดับต้นๆ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญและทำความรู้จักไว้ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกัน และรู้วิธีรักษา

ถุงน้ำรังไข่ เกิดขึ้นได้อย่างไร 

     ผู้หญิงจะมีระบบอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงโดยเฉพาะรังไข่ที่มีโอกาสเกิดซิสต์ขึ้นได้บ่อยๆ เนื่องจากโดยธรรมชาติรังไข่จะมีการสร้างของเหลวจากเซลล์ของรังไข่อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะมีการสร้างฟองไข่ทุกๆรอบเดือน ถ้าฟองไข่นั้นไม่มีการตกไข่ก็อาจจะกลายเป็นซิสท์ได้

ถุงน้ำรังไข่มี 2 ประเภท

  1. ถุงน้ำรังไข่ธรรมดา (Functional Cyst) คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการเจริญเติบโตของฟองไข่ตามธรรมชาติซึ่งมีทุกรอบเดือน และถุงน้ำนี้จะมีการแตกออกเพื่อทำให้ไข่ตก แต่กรณีที่ไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น ถุงน้ำนี้ก็จะยังคงอยู่ทำให้เกิดเป็นซิสท์ขึ้น แต่หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะสามารถยุบตัวไปได้เอง
  2. เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor) คือ เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่ที่ไม่สามารถยุบตัวลงได้เอง เป็นได้ทั้งเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง    (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือ ชนิดร้ายแรง (เป็นมะเร็ง) ก็ได้ เช่น dermoid cyst (ถุงน้ำเดอมอยด์) ภายในถุงน้ำจะมีไขมัน เส้นผม กระดูกและฟัน endometriotic cyst ภายในจะเป็นเลือดประจำเดือนที่ไหลย้อนจากมดลูกเข้ามาในช่องท้องและสะสมรวมกันเป็นซิสท์

อาการ

     โดยส่วนใหญ่ถุงน้ำรังไข่จะไม่มีสัญญาณเตือนหรือมีอาการใดๆชัดเจน แต่โดยมากผู้ป่วยมักจะมาตรวจพบเมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจพบโดยบังเอิญเวลาที่มาตรวจโรคอื่น ในผู้ป่วยที่มีอาการอาจจะพบลักษณะดังนี้

  • ท้องอืดท้องบวม
    • เจ็บปวดเนื่องการเคลื่อนไหวของลำไส้
    • ปวดกระดูกเชิงกรานก่อนหรือระหว่างรอบประจำเดือน
    • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ 
    • ปวดหลังส่วนล่างหรือต้นขา
    • เต้านมแข็ง และปวด
    • คลื่นไส้และอาเจียน

การตรวจวินิจฉัยถุงน้ำรังไข่

     จากการซักประวัติ อาการที่ผู้ป่วยมาพบ เช่นคลำได้ก้อนที่หน้าท้อง ปวดประจำเดือนมาก ปัสสาวะบ่อยขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติ เมื่อทำการถามประวัติแล้วก็จะตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยการตรวจภายใน การทำอัลตราซาวน์ หรือบางรายถ้าไม่แน่ใจก็อาจใช้การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( CT scan )

การรักษาถุงน้ำรังไข่

  1. ตรวจติดตาม ในรายที่สงสัยว่าเป็นถุงน้ำรังไข่แบบธรรมดา (functional cyst)
  2. การให้ฮอร์โมน มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็น endometriotic cyst หรือซิสท์ช็อกโกแลต

     การผ่าตัด เมื่อตรวจมั่นใจแล้วว่าเป็นซิสต์ที่รังไข่ที่ไม่ใช่ functional cyst เช่น ช็อกโกแลตซิสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลต่อการมีบุตรยาก, dermoid cyst ซีสต์ที่เป็นมะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำการผ่าตัด


Scroll to Top