กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสงูสวัด

กระจกตาอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสงูสวัด (Herpes zoster keratitis)

เชื้อไวรัส varicella-zoster (VZV)  เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดได้ทั้งโรคอีสุกอีใสและงูสวัด  โดยหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกที่ทำให้เกิดโรคอีกสุกอีใสขึ้น  เชื้อไวรัสดังกล่าวจะเดินทางไปฝังตัวอยู่ที่ปมประสาทของไขสันหลัง ซึ่งเชื้อไวรัสเหล่านี้อาจพักตัวอยู่อย่างสงบไม่ก่อให้เกิดโรคใดๆได้นานหลายสิบปี  จนกระทั่งเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้อ่อนแอลง  เชื้อจะถูกกระตุ้นทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมาใหม่ได้  โดยการติดเชื้อไวรัส VZV ซ้ำ  จะทำให้เกิดการติดเชื้อตามแนวเส้นประสาทนั้นๆ  เกิดเป็นผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาทของผิวหนัง   ซึ่งการติดเชื้ออาจลุกลามไปถึงตาได้เมื่อเกิดการติดเชื้อซ้ำในกรณีมีการอักเสบติดเชื้อลุกลามมาถึงบริเวณดวงตา  อาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ทุกส่วนของดวงตา  ตั้งแต่  เปลือกตาอักเสบ  เยื่อบุตาอักเสบ  กระจกตาอักเสบ  การอักเสบในช่องลูกตา  เส้นประสาทตาอักเสบ  หรือเส้นประสาทสมองเป็นอัมพาตได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อและภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสงูสวัดลุกลามมาที่ตา

  1. Hutchinson’s sign  คือลักษณะผื่นงูสวัดที่ลามมาถึงบริเวณด้านข้างและปลายจมูก  ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เป็นแขนงหนึ่งของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 แขนงที่ 1  กล่าวคือ  การติดเชื้อถึงผิวหนังบริเวณนี้  มีความสัมพันธ์กันที่จะมีการติดเชื้อลุกลามเข้าไปถึงในลูกตาได้
  2. อายุ การเกิดงูสวัดที่ตามักเกิดในผู้ป่วยช่วงอายุ 50-60  ปี  โดยอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ  มักรุนแรงและยาวนานกว่าการติดเชื้องูสวัดทั่วๆไป
  3. ผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นโรคงูสวัดที่รุนแรง

อาการและอาการแสดงเฉพาะ

ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสงูสวัดมักจะมีอาการนำ  ได้แก่  อ่อนเพลีย  มีไข้  วิงเวียนหรือมีอาการปวดศีรษะ  ในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น 3-5 วัน  จากนั้นจึงจะเริ่มมีอาการเจ็บ  ปวดแสบปวดร้อน  ชา  หรือคัน  บริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท  บางรายอาจปวดมากจนไม่สามารถนอนหลับพักได้  ต่อมาจะเริ่มมีผื่นแดง  เกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่มีอาการติดเชื้อ  จากนั้นผื่นจะเริ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง  ก่อนที่จะแห้งสนิททิ้งรอยดำหรือรอยแผลเป็น  รวมระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์  อย่างไรก็ตามผู้ป่วยหลายรายที่ผื่นแห้งสนิทแล้ว  ก็ยังจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามเส้นประสาทได้  ซึ่งอาการปวดแสบร้อนนี้จะค่อยๆทุเลาลง  แต่อาจคงอยู่ได้นานเป็นเดือนหรือเป็นปี  อาการปวดมักแย่ลงในช่วงกลางคืน หรือเมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย  เช่น  ลม  การสัมผัส  หรือความร้อน  เป็นต้น

หากมีการติดเชื้องูสวัดและมีผื่นขึ้นบริเวณรอบดวงตา  เปลือกตา  หน้าผาก  และลามมาถึงด้านข้างหรือส่วนปลายของจมูก  จำเป็นต้องตรวจตาให้ครบทุกส่วนโดยละเอียด  เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ดวงตา  อาการและอาการแสดงทางตาพบได้ในทุกส่วนของดวงตา ได้แก่

  1. เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยจะพบเยื่อบุตามีลักษณะ  อักเสบ  บวม  แดง
  2. การอักเสบติดเชื้อชั้นเนื้อเยื่อบนสุดของกระจกตา (Epithelial keratitis) พบได้มากถึงร้อยละ 50  ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสงูสวัดบริเวณรอบดวงตา  โดยมักพบในช่วงแรกหลังจากเริ่มมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง  และมักหายได้เองภายในไม่กี่วัน  รอยโรคที่ตรวจพบจะเป็นลักษณะของเส้นที่มีการแตกกิ่ง  หรือตรวจพบลักษณะเป็นจุดๆ  บนผิวกระจกตา 
  3. การอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตา (Stromal keratitis)  พบได้ประมาณร้อยละ 5  และมักเกิดในช่วงท้ายของการติดเชื้อ  ในช่วงที่ผื่นแดงและตุ่มน้ำเริ่มแห้งยุบ  ลักษณะรอยโรคจะแยกได้ยากจากการอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตาจากเชื้อไวรัสเริม  มักตอบสนองได้ดีต่อยาหยอดตากลุ่ม corticosteroid  แต่อาจเรื้อรังกว่าและจำเป็นต้องลดยาอย่างช้าๆ
  4. การอักเสบติดเชื้อชั้นในสุดของกระจกตา (Endothelial keratitis) พบได้ไม่บ่อยเท่ากับในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเริม  และไม่สามารถแยกโรคทั้งสองออกจากกันได้อย่างแน่ชัด
  5. การอักเสบในช่องลูกตา (Uveitis) พบได้ทั้งการอักเสบในส่วนหน้าหรือส่วนหลังของตา
  6. จอประสาทตาอักเสบ (Retinitis) ถือเป็นภาวะจอประสาทตาอักเสบที่รุนแรงและมีการดำเนินของโรคค่อนข้างเร็ว  มักพบในผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ 

แนวทางการรักษา

  1. การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดทาน หลังจากที่มีผื่นขึ้นตามผิวหนังภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาการติดเชื้อ  ลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อลุกลามมาสู่ดวงตา  รวมทั้งช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการปวดตามแนวเส้นประสาท  พิจารณาให้ acyclovir 800 mg รับประทาน 5 ครั้ง/วัน  นาน 7-10 วัน  หรืออาจพิจารณาให้ valacyclovir 1 g หรือ famciclovir 250-500 mg รับประทานวันละ 3 ครั้ง
  2. การรักษาด้วยยาหยอดตา  จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหยอดตา steroid  เพื่อลดอาการอักเสบของกระจกตาหรือในรายที่พบภาวะม่านตาอักเสบ
Scroll to Top