กลุ่มอาการครูป

กลุ่มอาการครูป (Croup)


     กลุ่มอาการครูป (Croup) หรือภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (Laryngotracheobronchitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสที่เป็นสาเหตุและพบบ่อยที่สุด คือ Parainfluenza viruses การติดเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้เกิดอาการ ทางเดินหายใจอุดกั้นเฉียบพลัน พบได้บ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก

อาการ


     มักเริ่มจากอาการคล้ายเป็นหวัด โดยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีไข้ หลังจากนั้น 1-3 วัน การอักเสบติดเชื้อจะลุกลามลงไปยังกล่องเสียงและหลอดลม ทำให้เกิดการบวมและการอุดกั้นของทางเดินหายใจ จึงมีอาการหายใจลำบาก หายใจเสียงดัง ไอแบบมีเสียงก้อง โดยถ้าเป็นมากๆจะมีเสียงไอคล้ายเสียงสุนัขเห่า เสียงแหบ หายใจเหนื่อย หากมีอาการรุนแรงจะพบอาการอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น หายใจจมูกบาน กล้ามเนื้อหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ ตัวเขียวจากการขาดออกซิเจน และฟังปอดพบเสียงการหายใจที่ผิดปกติได้


ความรุนแรงสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับ โดยอาศัยเกณฑ์ภาวะหายใจลำบาก, สีผิว(ระดับออกซิเจนในเลือด), การไอ, ภาวะความรู้สึกตัวและเสียงลมผ่านเข้าไปในปอด

  1. ความรุนแรงน้อย (mild croup) เด็กสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ และยังมีความสนใจต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม อาการแสดงมีเพียงไอเสียงก้องบางครั้ง ไม่มีเสียง stridor ขณะพัก หายใจไม่มีอกบุ๋ม
  2. ความรุนแรงปานกลาง (moderate croup) เด็กมีอาการไอเสียงก้องเกือบตลอดเวลา ขณะพักหายใจ มีเสียง stridor หายใจอกบุ๋ม ไม่มีอาการกระสับกระส่าย
  3. ความรุนแรงมาก (severe croup) เด็กมีอาการไอเสียงก้อง ขณะพักมีเสียง stridor หายใจอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ระดับความรู้สึกตัวลดลง อ่อนเพลีย ไม่สนใจบุคคลและสิ่งแวดล้อม

หากพบว่ามีอาการติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที

  • หายใจเข้าหรือออกมีเสียงดังหรือเสียงสูง
  • หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจลำบาก
  • เริ่มมีน้ำลายไหลหรือกลืนลำบาก
  • ดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ ไม่มีแรง กระวนกระวาย
  • จมูก ปาก หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือม่วงจากภาวะหายใจลำบาก
  • อาการคล้ายภาวะขาดน้ำ เช่น ลิ้นหรือปากแห้ง ไม่ปัสสาวะ เป็นต้น

สาเหตุ


     เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) โดยเด็กอาจติดเชื้อจากการหายใจสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป หรือจากการสัมผัสกับของเล่นเด็กและพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ
นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคภูมิแพ้ การหายใจเอาสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองเข้าไป ภาวะกรดไหลย้อน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรค
โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น สังเกตอาการจากการหายใจของเด็ก และอาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • สังเกตการหายใจและฟังเสียงบริเวณหน้าอกด้วยหูฟังว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น หายใจเข้าและออกได้ลำบากกว่าปกติ หายใจมีเสียง หรือเสียงหายใจเบาลง เป็นต้น
  • ตรวจภายในลำคอ เพื่อตรวจสอบอาการบวมแดงของฝาปิดกล่องเสียง
  • เอกซเรย์บริเวณคอ เพื่อตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมหรือการตีบแคบของหลอดลม

การรักษา


การรักษากลุ่มอาการ Croup ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยจะแบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็น 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มอาการความรุนแรงน้อย : แพทย์จะให้การรักษาตามอาการโดยให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม ให้ดื่มน้ำมากๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถให้การรักษาตามอาการที่บ้านได้ โดยการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครอง
  2. กลุ่มอาการความรุนแรงปานกลาง : แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้สารน้ำทางเส้นเลือด ฉีดยา และพ่นยาเพื่อลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
  3. กลุ่มอาการความรุนแรงมาก : รีบรักษาโดยการให้ออกซิเจน และพิจารณาใส่ท่อช่วยหายใจร่วมด้วยหากอาการไม่ดีขึ้น

การป้องกัน


     ทำได้ด้วยการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งการป้องกันในเบื้องต้นจะคล้ายกับการป้องกันหวัดหรือไข้หวัด ดังนี้

  • ใช้ทิชชู่ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที รวมถึงล้างมือให้สะอาด
  • ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากสามารถป้องกันเชื้อบางชนิดที่เป็นสาเหตุของกลุ่มอาการ Croup ได้
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในชุมชนแออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้หวัดระบาด
  • ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นหวัด ไม่ควรอยู่ใกล้ชิด/สัมผัสเด็ก ควรใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่ออยู่ใกล้เด็ก
  • รักษาความสะอาดภายในบ้าน รวมถึงอุปกรณ์ ของเล่น และข้าวของเครื่องใช้ของเด็ก ให้สะอาดเสมอ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อ

Scroll to Top