การดูแลเมื่อลูกมีอาการชัก

อาการชัก

เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก เพราะสมองของเด็กนั้นยังบอบบาง จึงถูกกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ง่าย โดยปัจจัยที่มักทำให้เกิดอาการชักในเด็ก ได้แก่ ภาวะไข้สูง การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในเนื้อสมอง ภาวะขาดน้ำ หรือภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ ที่มักเกิดจากการกินที่ลดลงร่วมกับอาการอาเจียนร่วมด้วย หากท่านผู้ปกครองเห็นว่าบุตรหลานของท่านกำลังมีอาการชัก อันดับแรกที่ต้องทำคือ จับตัวเด็กให้นอนตะแคง เพื่อให้น้ำลายไหลออกจากด้านข้างของมุมปาก และคลายเสื้อผ้าเด็กออก เพียงเท่านี้เองครับ ไม่ได้ยากเลย แต่ถ้ามีผู้ใหญ่อยู่กันหลายคน ท่านอาจจะให้คนอื่นๆ ไปนำน้ำมาช่วยเช็ดตัวลดไข้ (ในกรณีที่เด็กมีไข้ด้วย) จะทำให้อาการชักหายเร็วขึ้น ระหว่างนี้ท่านอาจจะคอยเรียกชื่อ หรือจับตัวเด็กได้ แต่ห้ามเขย่าตัวเด็กหรือทำรุนแรงอื่นๆ นะครับ เพราะไม่ได้ช่วยให้อาการชักหายเร็วขึ้น นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ ห้ามเอานิ้วมือ ปากกา หรือสิ่งของใดๆ เข้าไปปากเด็กขณะที่เด็กกำลังชักเด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายต่อนิ้วของท่าน เด็กอาจจะกัดสิ่งของนั้นขาด หรือทำให้ฟันหัก แล้วลงไปอุดหลอดลม ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ จึงห้ามเอานิ้วหรือสิ่งของใดๆ เข้าปากโดยเด็ดขาดเลยนะครับ

หมอจะสรุปขั้นตอนการดูแลเด็กที่มีอาการชัก ให้ดูง่ายขึ้นตามนี้นะครับ

  1. จัดท่า ให้นอนตะแคง
  2. คลายเสื้อผ้า หรือเช็ดตัวในกรณีที่มีไข้
  3. ห้ามเอาสิ่งของเข้าปากเด็ดขาด

โดยทั่วไป เด็กมักจะชักไม่นาน ราวๆ 2-3 นาที แล้วจะหายเป็นปกติ โดยมักมีอาการง่วงซึมร่วมด้วย แต่ถ้าเด็กยังมีอาการชักต่อเนื่อง ให้ท่านรีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ยากันชักเข้าทางเส้นเลือด จะได้คุมอาการชักได้โดยเร็ว เพราะถ้ายิ่งชักนาน จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสมอง

เมื่อเด็กหายจากอาการชักแล้ว ทางแพทย์ผู้ดูแล จะทำการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเบื้องต้นเพื่อหาสาเหตุของอาการชัก ในรายที่สงสัยการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองหรือในเนื้อสมอง แพทย์อาจจะทำการตรวจน้ำไขสันหลัง หรือที่ชอบเรียกกันว่า “เจาะหลัง” เพื่อหาร่องรอยการอักเสบในสมอง สำหรับการตรวจเพิ่มเติมเฉพาะทางระบบประสาท เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และการตรวจภาพรังสีของสมอง จะดำเนินการในรายที่สงสัยโรคทางระบบประสาท ได้แก่ โรคลมชัก หรือกรณีที่สงสัยโครงสร้างของสมองผิดปกติ เป็นหลักครับ

Scroll to Top