การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจอัลตร้าซาวด์ Ultrasound เป็นการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง

     การตรวจอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ปล่อยออกไปจากหัวตรวจ เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงสะท้อนกลับ เข้าเครื่องตรวจจับ แล้วแปลงมาเป็นรูปภาพ ปัจจุบันอัลตร้าซาวด์ นำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจวินิจฉัยทางสูติ-นรีเวช การตรวจนี้ไม่มีความรุนแรงหรือบอบช้ำจากการตรวจ ข้อดีของการตรวจอัลตร้าซาวด์คือ ไม่เจ็บปวด ไม่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย มารดา และทารกในครรภ์

ประโยชน์ที่นำมาใช้ทางการแพทย์แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ

  1. ด้านนรีเวช นำมาช่วยตรวจวินิจฉัยลักษณะมดลูก เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ลักษณะรังไข่ที่ปกติและผิดปกติ
    1. การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางหน้าท้อง จำเป็นจะต้องดื่มน้ำแล้วกลั้นปัสสาวะไว้ให้ได้ปริมาณมากพอสมควรก่อน เพื่อให้นํ้าในกระเพาะปัสสาวะช่วยดันลำไส้ออกจากช่องเชิงกราน จึงจะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดขึ้น
    2. การตรวจอัลตร้าซาวด์สอดผ่านเข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งการตรวจทางช่องคลอดใช้เครื่องความถี่สูง ข้อดีคือหัวตรวจจะเข้าไปใกล้ตำแหน่งมดลูกและรังไข่ได้มากกว่าการตรวจทางหน้าท้อง แพทย์จึงสามารถมองเห็นภาพของมดลูกและรังไข่จากจอมอนิเตอร์ได้ชัดเจนกว่าและไม่ต้องรอเวลาในการกลั้นปัสสาวะ
  2. ด้านสูติกรรม ใช้ตรวจพิสูจน์ยืนยันการตั้งครรภ์ว่าตั้งครรภ์ในหรือนอกมดลูก คำณวนอายุครรภ์จากขนาดของถุงการตั้งครรภ์ หรือขนาดของทารก ดูว่ามีการเจริญของทารกในครรภ์เป็นปกติหรือไม่ ค้นหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ดูลักษณะของรกและน้ำคร่ำ ดูความผิดปกติเล็กน้อยที่แสดงถึงความผิดปกติทางโคโมโซม เช่น ความหนาของผิวหนังต้นคอ น้ำในโพรงสมองของทารก เป็นต้น

     โดยทั่วไปแพทย์จะเลือกตรวจทางหน้าท้องบริเวณท้องน้อยก่อน โดยเฉพาะในสตรีที่อายุยังน้อยหรือยังไม่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน หรือพิจารณาตามความสะดวกของผู้ป่วย  

เมื่อไรที่ควรตรวจการตรวจอัลตร้าซาวด์

  • มีอาการปวดในบริเวณท้องน้อย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • กรณีตรวจพบก้อน การตรวจอัลตร้าซาวด์จะให้รายละเอียดของก้อนได้ว่าเป็นเนื้อตันหรือเป็นถุงน้ำ
  • ติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของรอยโรค
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • ตั้งครรภ์และต้องการตรวจติดตามการเติบโตของทารกในครรภ์

อัลตร้าซาวด์คลื่นเสียงความถี่สูง 3มิติ/ 4 มิติ (3D US, 4D US)

     อัลตร้าซาวด์คลื่นเสียงความถี่สูงในยุคแรก ๆ ยังแป็นภาพระนาบเดียว (2 มิติ) ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพให้คมชัดขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมามีการค้นพบพัฒนาการเก็บข้อมูลในเชิงปริมาตร (Volume data) ประมวลสร้างภาพทารกหรืออวัยวะของมนุษย์ในรูป 3 มิติเสมือนจริงและพัฒนาจนสามารถบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหว (Video) ในรูป 4 มิติ โดยเพิ่มมิติของเวลาเข้าไปด้วย ทำให้สามารถเห็นทารก กำลังเคลื่อนไหวได้และใช้ตรวจดูพฤติกรรมของทารกขณะอยู่ในครรภ์ได้

ประโยชน์ของคลื่นเสียงความถี่สูง 3 มิติ/ 4 มิติ

  • เสริมสร้างความผูกพันธ์ระหว่างคู่สามีภรรยาและทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์เช่น สร้างภาพผิวหน้าของทารกเสมือนการถ่ายภาพหรือถ่ายวิดิโอ
  • ช่วยในการตรวจดูอวัยวะที่มีมิติ หรือความโค้ง,ช่วยประเมินความผิดปกติได้
  • ช่วยวัดประมาตรของอวัยวะของทารก
  • ช่วยประเมินการไหลเวียนของเลือดในทารก/สายสะดือ/รกได้

ความปลอดภัย

     ปัจจุบันถือว่าการตรวจด้วย 3D/4D US ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของทารกในครรภ์แต่อย่างใด แต่แนะนำให้ตรวจเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางสูติศาสตร์เท่านั้น

     การตรวจด้วย 3D และ 4D ถือเป็นมิติใหม่ของการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทำให้ได้ภาพสวยงามเข้าใจง่ายและยังช่วยส่งเสริมความผูกพันธ์ระว่างมารดาและทารกในครรภ์ได้แต่ด้วยข้อจำกัดของการตรวจ 3D US อาจจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยคะ


Scroll to Top